วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การพัฒนาการศึกษาด้วย "โรงเรียนครูไม่มีหนี้"

การพัฒนาการศึกษาด้วย "โรงเรียนครูไม่มีหนี้"

การบรรจุครูจบปริญญาตรีเข้ารับราชการเมื่อ 40 กว่าปีก่อนนี้ กระทรวงศึกษาธิการรับผิดชอบในการสอบบรรจุครูจากส่วนกลาง เวลาฟังผลสอบ ส่วนมากผู้จบการศึกษาใหม่ที่สอบบรรจุครูไว้ จะไปฟังผลที่กระทรวงศึกษาธิการด้วยตนเองเพื่อพบกับเพื่อนๆ ที่เรียนมาด้วยกัน และมาสอบด้วยกัน เพื่อดูว่าตัวเองบรรจุได้ที่ไหน บางคนสมหวัง บางคนผิดหวัง และเมื่อมีตำแหน่งว่างเหลืออยู่ เจ้าหน้าที่ผู้อาวุโสจะเดินมาเรียกน้องๆ ที่ผิดหวัง และประกาศเสียงดังๆ กับผู้ที่มาดูรายชื่อว่า... “ใครจะไปบรรจุที่ตำแหน่งนี้บ้าง มีน้องคนไหนอยู่จังหวัดนี้ โน้น นั้น บ้าง จะไปบรรจุไหม ถ้าจะไป..ให้มาแจ้ง...แล้วเอาหนังสือส่งตัวไปบรรจุทันที...”

ดูเหมือนง่าย เพราะสมัยนั้นคนจบปริญญามีน้อย ตำแหน่งว่างมีมากกว่า ส่วนมากอยู่ต่างจังหวัดในท้องที่ห่างไกลความเจริญ ไม่ค่อยมีคนอยากไป แต่ “ไม่มีการเรียกรับเงินหรือผลประโยชน์จากผู้ที่จะเข้าบรรจุเป็นข้าราชการครู” ข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการในยุคสมัยนั้นไม่มีค่านิยมการแสวงหาผลประโยชน์ จากน้องๆ ผู้จบใหม่ที่จะเข้ารับราชการเป็นครู มีแต่ความเมตตา และเข้าใจในหัวใจของความเป็นข้าราชการของกระทรวงศึกษาธิการเหมือนกัน บรรยากาศแบบนั้นไม่มีให้เห็นอีกแล้วในกระทรวงศึกษาธิการปัจจุบัน

แต่ ระยะต่อมาการโอนย้ายตำแหน่ง การเลื่อนตำแหน่ง และการบรรจุครู มีข่าวการเรียกรับผลประโยชน์ หรือที่เรียกว่า “ค่าตำแหน่ง” มากขึ้น เริ่มตั้งแต่ผู้ที่ต้องการโอนย้ายจากครูโรงเรียนมัธยมไปเป็นอาจารย์วิทยาลัย ครูในสมัยนั้นอาจต้องมีการจ่ายค่าโอนย้าย การเข้าสู่ตำแหน่งบริหารที่มีเกียรติ และสายงานที่มีค่าตอบแทนและผลประโยชน์อาจต้องมีการแลกด้วยเงิน และเมื่อมีการกระจายอำนาจการบริหารไปสู่พื้นที่การศึกษามากขึ้น การบรรจุแต่งตั้งอยู่ในอำนาจของเขตพื้นที่การศึกษาเป็นสำคัญ การเรียกรับผลประโยชน์จึงอาจเกิดขึ้นได้ในทุกเขตพื้นที่การศึกษา และทำให้ดูเหมือนว่า มีจำนวนการเรียกรับผลประโยชน์มากขึ้นตามจำนวนของเขตพื้นที่ทั่วประเทศ เนื่องจากข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการส่วนมากไม่มีฐานะร่ำรวย แต่การเข้าสู่ตำแหน่งเป็นความก้าวหน้าในอาชีพ การยอมเป็นหนี้เพื่อให้ก้าวหน้าในอาชีพ จึงเป็นภาวะที่ต้องเลือก และส่วนมากเลือกที่จะเป็นหนี้

ปัจจุบันตำแหน่ง “ครูผู้ช่วย” สำหรับผู้จบปริญญาตรีสายวิชาชีพครู สมมติว่ามีราคาที่ประมาณ 300,000 บาท สำหรับผู้ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อและต้องการบรรจุเป็น “ครูผู้ช่วย” ซึ่งอาจอยู่ในเขตพื้นที่การศึกษาเดียวกัน หรือการขอใช้บัญชีรายชื่อข้ามเขต สิ่งเหล่านี้คือ “หนี้ตั้งแต่เริ่มการเป็นครู” เพราะการหาเงินก้อนไปจ่ายเพื่อให้ได้เป็นข้าราชการครูนั้น ต้องกู้หรือยืมมา ด้วยการมีดอกเบี้ย เพราะส่วนมากแล้ว น้องๆ จบใหม่ไม่มีฐานะที่จะจ่ายเงินจำนวนมากได้โดยไม่เป็นหนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองต้องช่วยหามาให้ เพราะคุ้มค่ากับการลงทุนให้กับบุตรหลาน และเมื่อได้เป็นข้าราชการครูแล้วก็ใช้สิทธิและเครดิตของข้าราชการครูกู้เงินใช้หนี้คืนค่าตำแหน่ง จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ครูบางคนเป็นหนี้ตั้งแต่เริ่มต้นอาชีพครู

นอกจาก หนี้สินจากการเป็นครูดังกล่าวแล้ว อาจมีหนี้ซึ่งเกิดจากบุคลิกภาพและค่านิยมส่วนตัว เช่น เล่นการพนัน มั่วสุมอบายมุข เที่ยวกลางคืน ลุ่มหลงในวัตถุนิยม ใช้เงินเกินฐานะ เกินรายได้ซึ่งล้วนทำให้เกิดหนี้สินได้ทั้งสิ้น

สำหรับหนี้สินที่เกิดจากการซื้อบ้าน ที่ดิน พาหนะ เหล่านั้น ถ้าพิจารณาหนี้เหล่านี้แล้วถือว่าไม่น่าห่วงมากนัก เพราะ “หนี้สิน” ที่เกิดขึ้นนั้น นำไปสร้างเป็น “ทรัพย์สิน” ให้กับตนเองหรือครอบครัว การเป็นหนี้เงินกู้จากการซื้อบ้านและที่ดิน หรือรถยนต์ เป็นการเปิดโอกาสให้ข้าราชการครูได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และโครงการเงินกู้ให้กับครูเพื่อที่อยู่อาศัยและพาหนะจึงไม่ควรนำมาพิจารณาว่าเป็นการส่งเสริมให้ครูเป็นหนี้อย่างที่มีการโจมตีผ่านสื่อมวลชนในปัจจุบัน

การพัฒนาการศึกษาที่ผู้รับผิดชอบเชิงนโยบายในทุกระดับ จึงนำประเด็นการเป็นหนี้ของครูมารวมกับการพัฒนาการศึกษา เพราะครูเป็นบุคลากรที่สำคัญสำหรับการพัฒนาการศึกษาและขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ถ้าครูยังเป็นหนี้จำนวนมาก ครูที่เป็นหนี้เหล่านั้น คงไม่มีจิตใจทุ่มเทให้กับการพัฒนาการศึกษาของชาติได้

การพัฒนาการศึกษา และการแก้ปัญหาหนี้ครูที่สามารถทำได้ในเชิงนโยบายนั้น ประการแรกคือ ขจัดการซื้อ-ขายตำแหน่งให้หมดไป เพราะหนี้จากการซื้อตำแหน่งเป็นภัยอย่างใหญ่หลวง สำหรับปัญหาอื่น ๆ ที่ตามมาในระบบของการศึกษา เมื่อการเข้าสู่ตำแหน่งต้องมีการซื้อ-ขาย การแสวงหาประโยชน์ต่าง ๆ จากการมีตำแหน่งย่อมเกิดขึ้นได้ และที่สำคัญมาก และเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติ คือ ความสำนึกในการเป็นข้าราชการที่รับใช้พระราชา รับใช้ประชาชน และรับใช้แผ่นดินจะไม่เกิดขึ้น “ความรู้สึกว่าเป็นหนี้แผ่นดินที่ต้องทดแทนนั้น ถูกกลบด้วยความรู้สึกที่เป็นหนี้เงินมากกว่า” ทำให้ความพยายามในการสร้างสำนึกที่ดีงาม จึงไม่เกิดผลสำหรับคนที่เป็นหนี้เงินบางคน

ประการต่อมาคือ นอกจากการพยายามจะสร้าง “โรงเรียนในฝัน” ในลักษณะต่าง ทั้งการส่งเสริมการเรียนการสอนทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์พกพาแบบหน้าจอสัมผัส (Tablets) และการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพครู และค่าตอบแทนต่างๆ ที่ครูควรจะได้รับแล้ว ควรส่งเสริมและสนับสนุนให้มี “โรงเรียนครูไม่มีหนี้” ขึ้นบ้าง จะเป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับจุลภาค (Micro Level) และขยายตัวเป็นต้นแบบหรือโมเดลของโรงเรียนที่มีการพัฒนาการศึกษาแบบองค์รวม (Holistic) แต่ให้ความสำคัญกับพัฒนาการที่เกิดขึ้นในทุกภาคส่วนขององค์ประกอบ แต่ละส่วน (Atomistic)

การทำให้เกิด “โรงเรียนครูไม่มีหนี้” นั้น เป็นหลักการเชิงปรัชญาและอุดมคติ การดำเนินงานต้องระมัดระวังและไม่ใช่เป็นการทำให้ครูอยู่อย่างประหยัด จนไม่อยู่บนฐานของความจริงในสังคมปัจจุบัน แต่เป็นการเพิ่มรายได้ และหาทางให้ครูมีรายได้เพียงพอ หรือสูงกว่ามาตรฐาน จะเป็นการยกระดับวิชาชีพครูอีกทางหนึ่งด้วย

เมื่อครูไม่มีหนี้สิน ความตั้งใจในการทำงานย่อมมีมากขึ้น ความสามารถในการทุ่มเทพลังความสามารถของครูให้กับงานทางการศึกษาจะเกิดผลดีกับนักเรียน ที่จะเป็นพลเมืองของประเทศ และแน่นอนว่าระบบการศึกษาจะได้รับการพัฒนาจากรากฐานในระดับจุลภาค (Micro Level) ไปสู่ระดับมหภาค (Macro Level) และเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างต่อเนื่องด้วยตนเองต่อไป

รองศาสตราจารย์ ดร.กฤษมันต์ วัฒนาณรงค์


ที่มา - ไทยรัฐออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น: