วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ย้ำเจตนารมณ์ 'ครูสอนดี' ยกระดับคุณภาพครูเพื่อการเรียนรู้ของเด็กไทย

ย้ำเจตนารมณ์ 'ครูสอนดี' ยกระดับคุณภาพครูเพื่อการเรียนรู้ของเด็กไทย

สอนเป็น เห็นผล คนยกย่อง สังเกตเห็นได้ว่าครูท่านใดมีลักษณะ 3 ประการดังกล่าวจะถูกยกย่องให้เป็น “ครูสอนดี” ซึ่งขณะนี้โรงเรียน ท้องถิ่นและจังหวัดทั่วประเทศกำลังร่วมกันคัดสรรครูเพื่อร่วมกันยกย่องเชิด ชูครูสอนดีที่มีอยู่ในแทบทุกชุมชนทั่วประเทศ

“ครูสอนดี” ถือเป็นหนึ่งในโครงการโดย สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) โดยเป้าหมายในปี 2554 สังคมไทยจะได้รู้จักครูสอนดี 20,000 คน และเมื่อโครงการต่อเนื่องจนถึงปี 2556 สังคมไทยก็จะได้ร่วมกันเชิดชูครูสอนดี จำนวน 60,000 คน

จุดเริ่มต้นที่สำคัญของโครงการครูสอนดีเริ่มเมื่อปลายปี 2553 จากการระดมความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา และครูแท้ ๆ ผู้ร่วมปฏิรูปการศึกษามานับสิบปี ในเวทีของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่เห็นร่วมกันถึง “ทุกข์ของครู” ที่ต้องมุ่งสู่การทำวิทยฐานะ การให้น้ำหนักต่อการเรียนการสอนจึงลดลง

จึงนำไปสู่แนวคิด ’ครูสอนดี“ โดยแนวคิดคือ ลดการให้น้ำหนักกับการประเมินครูด้วยเอกสารผลงาน แต่ดูคุณภาพของครูผ่านคุณภาพการเรียนการสอน โดยข้อเสนอของ สศช. ได้รับความเห็นชอบจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2554 ภายใต้แผนปฏิบัติการปฏิรูปประเทศไทยเพื่ออนาคตคนไทยที่เท่าเทียมและเป็นธรรม

แนวคิดดังกล่าวยังคงมีอุปสรรคทางเทคนิควิธีอยู่บ้าง ประเด็นสำคัญคือคุณภาพการสอนของครูต่างสังคมต่างบริบทย่อมมีความแตกต่างกัน การวัดผลการสอนจึงไม่สามารถใช้มาตรฐานเดียวกันมาวัดได้ ทางออกคือผลการสอนควรดูจากคนใกล้ตัวครูมากที่สุด และอยู่ในชุมชนท้องถิ่นเดียวกันกับตัวครูนั่นเอง

แนวคิด “ครูสอนดี” จึงมาจากผู้ที่มีประสบการณ์การเป็นครูมาตลอดชีวิต เพื่อให้ครูได้หันมาให้เวลากับคุณภาพการสอน แทนการทำผลงานทางเอกสาร

นคร ตังคะพิภพ อดีตผู้บริหารสถานศึกษา เชี่ยวชาญพิเศษ หรือครูซี 10 คนแรกของประเทศ ที่ผ่านระบบการประเมินระดับสูงสุดมาแล้ว ก็ยังเห็นว่ามีจุดอ่อนของการประเมิน ครูนครจึงได้เสนอแนวคิดโครงการ “ครูสอนดี” โดยเน้นที่การ “สอนเป็น เห็นผล คนยกย่อง”

“เจตนารมณ์ของโครงการครูสอนดี มีที่มาจากการจัดเวทีแลกเปลี่ยนของสศช.โดยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์หลาก หลายวิชาชีพมาระดมสมอง สำรวจปัญหาที่ทำให้คุณภาพการศึกษาเด็กไทยตกต่ำจนอยู่ในขั้นวิกฤติมากเมื่อ เปรียบเทียบกับนานาประเทศในโลก” ครูนครเล่าถึงที่มา

“ที่ประชุมจึงสรุปว่าสาเหตุของคุณภาพการศึกษาของเด็กไทยมีหลายสาเหตุ แต่สาเหตุสำคัญอยู่ที่คุณภาพครู ซึ่งผมในฐานะที่อยู่ในวงการครูมานานก็เห็นปัญหานั้นและเชื่อว่าถ้าคุณภาพครู จะดีขึ้นต้องสนับสนุนส่งเสริมให้ค้นหาครูสอนดีที่แท้จริงให้ได้ เพื่อยกย่องเป็นตัวอย่าง จากนั้นจึงเกิดหลักเกณฑ์สรรหาครูสอนดีที่ว่า สอนเป็น เห็นผล คนยกย่อง และกำหนดแนวทางคัดสรรโดยไม่เน้นการสร้างเอกสารหลักฐาน แต่ใช้ภาคีบุคคลหลายฝ่ายเป็นผู้กลั่นกรองในทุกท้องถิ่นทั่วประเทศ”

“ผมคิดว่าในโครงการคัดเลือก “ครูสอนดี” ที่เริ่มมาแล้ว 3 เดือนเศษนั้น ถ้าทุกฝ่ายทำตามเจตนารมณ์โดยไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง และทำอย่างต่อเนื่องสัก 3 ปีเป็นอย่างน้อย ก็จะมีคุณครูที่ทำงานเพื่อศิษย์ที่ไม่เน้นไปกับการผลิตเอกสารทางวิชาการ มีความภาคภูมิใจในอาชีพเกิดขึ้นทั่วไป คุณครูจำนวนนี้ก็จะมีกำลังใจทำหน้าที่ครูอยู่กับลูกศิษย์อย่างทุ่มเทเสียสละ ไม่ท้อแท้ท้อถอย แล้วจะส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาไทยดีขึ้นได้แน่นอน”

สิ่งสำคัญของการเฟ้นหาครูสอนดี คือ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันคัดเลือกเชิดชูครูสอนดี ผ่านการทำงานรูปแบบใหม่ ที่เปิดให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมด้านการศึกษา ในรูปแบบของ “คณะกรรมการเพื่อการคัดเลือกครูสอนดีและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” ใน 2 ระดับ คือ ระดับท้องถิ่น ทำหน้าที่เฟ้นหาครูสอนดีในระดับเขต เทศบาล/อบต. และ ระดับจังหวัด ในการนี้ด่านแรกคือโรงเรียน โดยผู้บริหารจะต้องจัดหารือกับ 4 ฝ่ายคือ นักเรียน ผู้ปกครอง เพื่อนครู และผู้บริหาร มิใช่ผู้อำนวยการโรงเรียนคัดเลือกเอาตามดุลพินิจของตนเองเท่านั้น

กระบวนการดังกล่าวเปิดโอกาสให้ครูสอนดีเป็นคนของชุมชน ทุกคนในชุมชนเห็นคุณค่าและร่วมกันเชิดชู มิใช่ครูที่ลูกศิษย์และชาวบ้านเอื้อมไม่ถึงอีกต่อไป

ในการขับเคลื่อนงานในปีแรกนี้ สสค.ยังประสบปัญหาอุปสรรคในบางพื้นที่ แต่ก็ได้รับความร่วมมือจากเครือข่าย ’ครูวุฒิอาสา“ ที่มีศรัทธาต่อโครงการ จึงอาสาเดินสายไปทั่วทุกจังหวัดเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจโครงการให้กับคณะ กรรมการคัดเลือกครูสอนดีระดับจังหวัดและท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถานศึกษาทั่วประเทศ

เพื่อร่วมกันยกย่อง “ครูสอนดี” ที่มุ่งสู่คุณภาพการสอนแก่เยาวชนไทย.



ที่มา - เดลินิวส์ออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น: