วันพุธที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

RSประกวดสื่อการเรียนการสอนออนไลน์

RSประกวดสื่อการเรียนการสอนออนไลน์



ขวา - นายอาทิตย์ เลิศรักษ์มงคล ผู้อำนวยการสายงานออนไลน์บิสสิเนส บริษัท อาร์เอส


RS รุกตลาดการศึกษาออนไลน์เต็มสูบด้วยกิจกรรมการประกวดสื่อการเรียนการสอนออนไลน์ รูปแบบใหม่ครั้งแรกในเมืองไทย ภายใต้ชื่อ สคูลบัส อวอร์ด ครั้งที่ 1 (Skoolbuz Awards 2010) ชิงรางวัลกว่า 7 แสนบาท

นายอาทิตย์ เลิศรักษ์มงคล ผู้อำนวยการสายงานออนไลน์บิสสิเนส บริษัท อาร์เอส (RS) กล่าวว่าเว็บไซต์สคูลบัสดอทคอม (www.skoolbuz.com) ในเครือ RS ได้จัดกิจกรรมการประกวด สื่อการเรียนการสอนออนไลน์ ภายใต้ชื่อ สคูลบัส อวอร์ด ครั้งที่ 1 (skoolbuz awards 2010) เพื่อให้เด็กได้โชว์ไอเดียที่สร้างสรรค์ไม่จำกัดรูปแบบ ทำให้ชีวิตการเรียนการสอนยุคออนไลน์เป็นเรื่องง่ายและสนุกขึ้น

อีกทั้งยังมุ่งเน้นให้เกิดการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์และนักเรียนไปพร้อมๆ กันอีกด้วย โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น ถึงตอนปลายทั่วประเทศได้มีส่วนร่วมในการออกแบบและผลิตสื่อการเรียนการสอนออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ และอัพโหลดผลงานของตัวเองเพื่อส่งเข้าประกวดผ่านทางเว็บไซต์สคูลบัสดอทคอมลุ้นรางวัลใหญ่ไปทัศนศึกษาประเทศสิงคโปร์ และของรางวัลต่างๆอีกมากมายรวมมูลค่ากว่า 7 แสนบาท

'ผมมองว่าปัจจุบันนี้ความรู้บนโลกออนไลน์มีบทบาทมากมายมหาศาลต่อการเรียนการสอน ซึ่งเราต้องสนับสนุนให้บุคลากรในประเทศ ทั้งครูอาจารย์และนักเรียนได้ใช้สื่อการเรียนการสอนที่อยู่ในโลกออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น'

RS เชื่อมั่นว่าแคมเปญสคูลบัส อวอร์ด จะเป็นกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายของการเป็นเว็บการศึกษารูปแบบใหม่ของเมืองไทยที่จะทำให้การศึกษาเมืองไทยก้าวเข้าสู่โลกยุคออนไลน์ได้เต็มตัวโดยสร้างการเรียนรู้ต่อสื่อยุคออนไลน์ระหว่างครูอาจารย์และเด็กนักเรียนทั่วประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างพื้นที่ทางด้านการศึกษาเพื่อให้เด็กไทยได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเป็นเวทีให้เด็กไทยได้แสดงความสามารถ พร้อมที่จะก้าวไปแข่งขันในเวทีระดับโลกได้ในอนาคตอีกด้วย




โดย
ผู้จัดการออนไลน์ 20 กรกฎาคม 2553 10:38 น.

วันศุกร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

จากครูกาฬสินธุ์สู่ “เซิร์น” องค์กรฟิสิกส์ระดับโลก


นิทรรศการภายในอาคารโกลบของเซิร์น

ห่างออกไปจากตัวเมืองกาฬสินธุ์เกือบ 100 กิโลฯ ครูฟิสิกส์คนหนึ่งที่อุตสาหะเรียนจนจบปริญญาโท รู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้ง ความรู้ฟิสิกส์ที่เธอถ่ายทอดให้แก่นักเรียนไปนั้น ดูเหมือนไม่เป็นที่ต้องการ เพราะท้ายที่สุดแล้วเหล่าลูกศิษย์ของเธอต้องลงเอยที่การทำนา-ทำไร่เช่นเดียวกับผู้ปกครอง แต่เหมือนว่าฟ้าจะเห็นใจในความพยายามเมื่อเธอได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 2 ตัวแทนครูไทยเข้าร่วมอบรมที่ “เซิร์น” ซึ่งสร้างความตื่นเต้นให้แก่นักเรียนเป็นอย่างมาก

“ขอบคุณนะคะที่ยังนึกถึงครูฟิสิกส์"

เป็นความรู้สึกของ "พิมพร ผาพรม" หรือ "ครูอ้อม" โรงเรียนท่าคันโทวิทยาคาร อ.ท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์ ระหว่างเข้าสัมภาษณ์เพื่อเฟ้นหาครูฟิสิกส์ไทย 2 คนให้เข้าร่วมร่วม "โครงการสำหรับครู /อาจารย์ สอนฟิสิกส์" (CERN Programme for Physics High School Teachers) ของเซิร์น (CERN) ณ นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์

แม้ตอนนั้นเธอไม่คาดคิดว่าจะได้รับคัดเลือก เนื่องจากผู้ผ่านการคัดเลือกบางคน เป็นถึงครูโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำของประเทศ และบางคนมีดีกรีความรู้ถึงระดับ “ด็อกเตอร์”

เด็กๆ ขนลุกแทนคุณครู

เมื่อทราบข่าว เด็กๆ ในโรงเรียนซึ่งเคยมองว่าฟิสิกส์เป็นเรื่องไกลตัว และไม่ใช่เป้าหมายในการเรียน ต่างรู้สึกตื่นเต้นและยินดีกับคุณครูของพวกเขา บางคนถึงกับขนลุกแทนคุณครู แม้ยังไม่ทราบว่าเซิร์นนั้นยิ่งใหญ่สักแค่ไหน โดยในระยะเวลา 3 สัปดาห์ที่เซิร์น ครูอ้อมจะได้รับความรู้ด้านฟิสิกส์อนุภาคและร่วมทำกิจกรรมการทดลอง พร้อมๆ กับครูจากประเทศต่างๆ เกือบ 50 คน

ครูฟิสิกส์จากกาฬสินธุ์คาดว่า กิจกรรมทดลองดังกล่าวน่าจะเกี่ยวกับการผลิตสื่อการสอนด้านฟิสิกส์อนุภาค และเธอยังได้รับการคาดหวังให้กลับมาสอนฟิสิกส์อนุภาคแก่นักเรียน แม้ในหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการยังไม่ได้บรรจุเรื่องนี้ลงไปในหลักสูตรมัธยมปลายก็ตาม

ครูอ้อมเดินทางไปแล้วตั้งแต่คืนวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา พร้อม "สุพัตรา ทองเนื้อห้า" หรือ “ครูจ๋า” ครูฟิสิกส์อีกคนจากโรงเรียนทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ที่ได้รับคัดเลือกเข้าโครงการ ด้วยภาระ "ตัวแทนประเทศ" ที่แบกไว้บนบ่าแต่ละคน และยังเป็นตัวแทนครูไทยชุดแรกที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ของเซิร์น ซึ่งเซิร์นได้เริ่มโครงการภาคฤดูร้อนนี้มาตั้งแต่ปี 2543 โดยก่อนหน้านี้ครูส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมมาจาก 20 ประเทศในยุโรป

ฟิตความรู้ก่อนเป็นครู

หลังจากเรียนจบฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ครูอ้อมต้องเรียนวิชาชีพครูที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร เป็นเวลา 1 ปี เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนไปเป็นครู ตามเงื่อนไขทุนในโครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (สควค.) ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) แต่ระหว่างนั้นเธอยังไม่พร้อมที่จะเป็นครู

“ไม่ใช่ไม่อยากเป็นครูนะ แต่ตอนนั้นยังรู้สึกว่าตัวเองไม่พร้อม จึงเรียนต่อปริญญาโทด้วยทุนผู้ช่วยวิจัยที่ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เรียนด้านฟิสิกส์ชั้นบรรยากาศซึ่งเป็นเรื่องที่สนใจ และใช้เวลาเรียน 3 ปี ตามเวลาที่ สสวท.อนุญาตให้เลื่อนใช้ทุนออกไปได้" ครูอ้อมกล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

ครูฟิสิกส์ถูกทิ้ง

ตามเงื่อนไขของทุน สควค.นั้น นักเรียนทุนต้องกลับไปใช้ทุนในจังหวัดบ้านเกิด ซึ่งเมื่อเรียนจบปริญญาโทแล้ว โรงเรียนท่าคันโทวิทยาคารซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมขนาดเล็ก มีนักเรียนอยู่ประมาณ 1,000 คน มีตำแหน่งครูว่างพอดี ครูอ้อมจึงได้บรรจุเป็นครูที่นั่นตั้งแต่ปี 2551 และแม้จะมีความรู้อัดแน่นแต่การสอนกลับไม่ใช่เรื่องง่าย

ครูอ้อมเล่าถึงปัญหาในการสอนว่าเด็กนักเรียนท่าคันโทส่วนใหญ่เป็นเด็กยากจน ผู้ปกครองมีอาชีพเกษตร เมื่อเรียนจบ ม.ปลาย นักเรียนจำนวนมากจะไปเป็นเกษตรกรช่วยครอบครัว มีเพียง 10% ที่เรียนต่อมหาวิทยาลัย ดังนั้น เด็กส่วนใหญ่จึงมองว่าฟิสิกส์เป็นเรื่องไกลตัว

“รู้สึกเหมือนถูกทิ้งเพราะสอนไปด้วยความด้วยความรู้สึกว่าฟิสิกส์ไม่ใช่เป้าหมายของนักเรียน ดังนั้นความท้าทายคือทำอยางไรก็ได้ให้เด็กสนใจฟิสิกส์ก็พอ ทำให้เด็กสนุกสนาน ไม่เบื่อและรู้สึกสนใจฟิสิกส์มากขึ้น" ครูอ้อมกล่าว

ในทัศนะของครูฟิสิกส์คนใหม่เธอมองว่าโดยธรรมชาติของชาวท่าคันโทแล้ว เป็นคนรักความสนุกสนาน ไม่ชอบอะไรที่เคร่งเครียดและดูจริงจัง จึงเป็นโจทย์อันท้าทายว่าจะทำให้ฟิสิกส์เป็นเรื่องสนุกสนานได้อย่างไร ทางออกหนึ่งคือการผลิตสื่อให้นักเรียนได้เล่น-ได้ทดลอง และหวังว่าการได้เข้าร่วมโครงการของเซิร์นนั้นจะเป็นโอกาสให้เธอได้แลกเปลี่ยนเทคนิคการสอนกับครูจากประเทศอื่นๆ ร่วมถึงสื่อการสอนที่จะได้เรียนรู้จากเซิร์นด้วย

ครูจากโรงเรียนเล็กๆ ทำไมได้โกอินเตอร์?

ทั้งที่มีครูฟิสิกส์เก่งๆ อยู่มาก แต่เหตุใดครูจากโรงเรียนเล็กๆ ในอีสานจึงได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมกิจกรรมในองค์กรวิจัยระดับโลก ....

เป็นคำถามที่ครูอ้อมสงสัยและพยายามวิเคราะห์เองว่า โครงการอาจต้องการให้โอกาสแก่ครูที่สร้างผลงานไปถึงเด็กจริงๆ อย่างเธอเองมีผลงานเป็นที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์ของนักเรียนที่ผ่านเข้ารอบระดับภาค หรือ น.ส.สุพัตรา เพื่อนครูที่ได้ร่วมเดินทางไปกับเธอในครั้งนี้ด้วยนั้น เป็นที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์ที่ได้รับรางวัลอันดับ 3 ของประเทศ

ถึงแม้จะเป็นคุณครูในโรงเรียนเล็กๆ และรู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้งเมื่อวิชาฟิสิกส์ไม่เป็นที่ต้องการของเด็กๆ แต่ใช่ว่าโรงเรียนจะไม่มีความพร้อมเสียเลย เพราะโรงเรียนท่าคันโทวิทยาคารเป็นหนึ่งใน 500 โรงเรียนที่ได้รับเลือกเข้าร่วมโครงการโรงเรียนมาตรฐานสากล (World Class Standard School) ซึ่งนักเรียนจะได้เรียน 2 ภาษา คือ จีน-อังกฤษ มีทั้งอาจารย์ฝรั่งและอาจารย์ชาวจีนมาสอนนักเรียนโดยตรง

อีกทั้งยังมีระบบอินเทอร์เน็ตที่พร้อมให้นักเรียนสืบค้นข้อมูลได้อย่างไม่จำกัด ทำให้ครูฟิสิกส์คนนี้ทราบข้อมูลการรับสมัครครูเข้าร่วมโครงการกับเซิร์นครั้งนี้

นอกจากนี้ ครูอ้อมยังบอกด้วยว่าผู้อำนวยการได้สนับสนุนการเข้าอบรมอย่างเต็มที่ บางครั้งเป็นผลงานวิชาการส่วนตัว ทางผู้บริหารก็อนุญาตให้ไปร่วมได้ และส่งไปอบรมสม่ำเสมอ ทั้งที่โรงเรียนส่งไปและการอบรมที่สนใจโดยส่วนตัว จึงทำให้มีผลงานพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องและกลายเป็นหลักฐานที่ใช้ยื่นสมัครเข้าโครงการในครั้งนี้

เมื่อได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนประเทศทำให้ครูอ้อมมองว่าที่จริงแล้วครูจากโรงเรียนเล็กๆ ก็มีโอกาสไม่ต่างครูจากโรงเรียนใหญ่ๆ เช่นกัน และเปรียบเทียบความแตกต่างว่า สำหรับโรงเรียนขนาดเล็กแล้วมีโจทย์ที่ท้าทายกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่มากเพราะเด็กๆ พร้อมที่จะเรียนรู้ แต่สำหรับโรงเรียนขนาดเล็กแล้วคุณครูต้องเผชิญกับความท้าทายว่าจะทำอย่างไรให้นักเรียนสนใจในวิชาที่เรียน

การได้ไปเยือนองค์กรวิจัยระดับโลกที่รวมเอาความเป็นที่สุด ทั้งองค์ความรู้ด้านฟิสิกส์ทฤษฎี ฟิสิกส์ทดลอง รวมถึงสุดยอดงานวิศวกรรมของมนุษยชาติที่ก่อกำเนิดเป็นเครื่องเร่งอนุภาคขนาดมหึมา น่าจะจุดประกายให้นักเรียนหรือใครก็ตามที่เคยมองข้ามฟิสิกส์ไปได้หันกลับมามองสาขาทางด้านนี้ และครูอ้อมน่าจะเป็นแรงบันดาลใจทั้งแก่นักเรียนและคุณครูจากโรงเรียนอันห่างไกลอีกหลายคนได้.


ทีมครูและนักศึกษาเตรียมความพร้อมเรื่องเครื่องเร่งอนุภาคที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนก่อนเข้าร่วมโครงการที่เซิร์น


ที่มา
ผู้จัดการออนไลน์

วันพฤหัสบดีที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

การ‘สัมผัส’ มีผลต่อทัศนคติ

งานวิจัยชี้ ‘สัมผัส’ มีผลต่อทัศนคติ

เรื่องนี้สามารถนำไปปรับใช้ในการทำงานได้ครับ ไม่ว่าจะในการจัดการเรียนการสอน หรืออาชีพอื่นๆ ก็ตาม


สัมผัสต่อพื้นผิววัตถุ เช่น การนั่งเก้าอี้ไม้ ทำให้ทัศนคติที่มีต่อผู้อื่นเปลี่ยนไป



ถ้าอยากต่อรองแบบเขี้ยวลากดิน ก่อนอื่นให้เลือกนั่งเก้าอี้ไม้แทนเก้าอี้นวม เพราะนักวิจัยพบว่าความแข็งของเก้าอี้มีอิทธิพลโดยตรงต่อความรู้สึกของเราที่มีต่อคนอื่น

การค้นพบนี้เป็นส่วนหนึ่งของการทดลองที่เผยให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างทัศนคติของเราต่อผู้อื่น กับพื้นผิวของวัตถุที่อยู่รอบตัว ทั้งยังบ่งชี้ว่าพฤติกรรมของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้พิพากษา ครู ผู้สัมภาษณ์งาน หรือนักการเมือง ล้วนได้รับอิทธิพลจากวัตถุปกติธรรมดา เช่น เก้าอี้ที่นั่ง หรือความรู้สึกถึงปากกาในมือ

นักวิจัยเชื่อว่าความเชื่อมโยงระหว่างสัมผัสกับอารมณ์ย้อนกลับไปถึงช่วงวัยเด็ก และสามารถอธิบายได้ว่าเหตุใดเราจึงใช้คำว่า ‘หนัก’ ‘หยาบ’ และ ‘แข็ง’ อธิบายถึงไม่เฉพาะวัตถุ แต่ยังรวมถึงสถานการณ์ต่างๆ

“งานศึกษาของเราบ่งชี้ว่าการต้อนรับที่มีการสัมผัส เช่น การจับมือและจูบแก้ม อาจมีอิทธิพลอย่างแท้จริงต่อการตอบโต้ทางสังคมจากจิตใต้สำนึก” คริสโตเฟอร์ โนเซอรา ผู้นำการวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐฯ กล่าว

นักวิจัยได้ทำการทดลองหลายชุดกับอาสาสมัคร เพื่อทดสอบว่าน้ำหนัก พื้นผิว และความแข็งของวัตถุ มีผลต่อทัศนคติเกี่ยวกับผู้อื่นโดยที่เราอาจไม่รู้ตัว

ในการทดลองหนึ่ง อาสาสมัคร 86 คนถูกเชิญเข้าไปในห้องวิจัย และได้นั่งเก้าอี้ไม้หรือเก้าอี้บุนวม โดยจำลองสถานการณ์ว่ากำลังไปซื้อรถใหม่ที่โชว์รูม

หลังจากรู้ราคารถแล้ว อาสาสมัครต้องเขียนราคาที่ต้องการซื้อ 2 ราคา ในกรณีที่โชว์รูมไม่ยอมรับราคาแรก ผลปรากฏว่าอาสาสมัครที่นั่งเก้าอี้ไม้เจรจาแบบผ่อนปรนน้อยกว่า และไม่เต็มใจเพิ่มราคาให้

อีกการทดลอง อาสาสมัคร 49 คนได้จับผ้าห่มนุ่มและไม้ชิ้นเล็กๆ ก่อนได้ดูสถานการณ์การประชุมที่คลุมเครือระหว่างเจ้านายกับลูกน้อง เพราะมีทั้งการหยอกล้อที่เป็นมิตรและการโต้ตอบกันอย่างดุเดือด ซึ่งนักวิจัยพบว่าอาสาสมัครที่ได้จับชิ้นไม้ตัดสินว่าลูกน้องแสดงพฤติกรรมแข็งกร้าวเกินไป

ในการทดลองที่ 3 อาสาสมัครได้จิ๊กซอว์ 5 ชิ้น ครึ่งหนึ่งได้จิ๊กซอว์ที่เป็นวัสดุที่เป็นพื้นผิวเรียบ อีกครึ่งได้จิ๊กซอว์หุ้มด้วยกระดาษทราย และได้ดูสถานการณ์ที่คล้ายกันกับการทดลองที่ 2

เช่นเดียวกัน อาสาสมัครที่ได้จิ๊กซอว์หุ้มกระดาษทรายมองว่าความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครในสถานการณ์ตึงเครียดและมีปัญหามากกว่าอาสาสมัครอีกกลุ่ม

แม้แต่ความแข็งของคลิปบอร์ดก็มีผลต่อทัศนคติของคนเรา โดยนักวิจัยขอให้อาสาสมัคร 45 คนให้คะแนนความประทับใจที่มีต่อผู้สมัครงานหลังจากได้อ่านประวัติย่อของคนเหล่านั้น

ปรากฏว่าเมื่อได้อ่านประวัติย่อที่เหน็บมากับคลิปบอร์ดที่แข็งและหนัก อาสาสมัครจะอ่านอย่างจริงจังมากกว่าประวัติย่อที่เหน็บมากับคลิปบอร์ดที่เป็นฟิล์มใสและเบา

นอกจากนั้น การศึกษาในอดีตยังพบว่า เราอาจมองคนแปลกหน้าในแง่ดีขึ้นถ้าคนๆ นั้นถือถ้วยกาแฟร้อนกรุ่นอยู่ มากกว่าคนแปลกหน้าที่ถือเครื่องดื่มใส่น้ำแข็ง

ดร.จอห์น บาร์ก จากมหาวิทยาลัยเยล ผู้ทำการศึกษาดังกล่าว บอกว่าประสบการณ์ทางร่างกายไม่เพียงกำหนดพื้นฐานความคิดและมุมมองของคนเราเท่านั้น แต่ยังมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของเราต่อผู้อื่น บางครั้งเพียงเพราะเรานั่งในเก้าอี้ไม้แทนที่จะเป็นโซฟา

ที่มา
ผู้จัดการออนไลน์