วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

โรงเรียนขนาดเล็ก "ยุบ" หรือ "ไม่ยุบ" คำตอบอยู่ที่ "ชุมชน" จริงหรือ?

โรงเรียนขนาดเล็ก "ยุบ" หรือ "ไม่ยุบ" คำตอบอยู่ที่ "ชุมชน" จริงหรือ?

จากกระแสการยุบโรงเรียนขนาดเล็กคงสะท้อนปัญหาการศึกษาไทยได้ไม่น้อย ยิ่งนโยบายของเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ให้มีการยุบโรงเรียนขนาดเล็กในสังกัด ทั้งหมด14,397 โรง ทั่วประเทศ

แน่นอนว่าครู ผู้ปกครอง ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แม้กระทั่งนักเรียนเอง ต่างก็ได้รับผลกระทบแน่นอน และเกิดการวิตกกังวลไปตาม ๆ กัน

ผลจากการยุบโรงเรียนก็คือ นักเรียนต้องเดินทางไปเรียนอีกโรงเรียนหนึ่ง ซึ่งไม่คุ้นชิน และอยู่ไกลจากเดิม ประการต่อมาคือ ครูมีความกังวลว่าจะถูกโยกย้ายตำแหน่งหรือถูกลดบทบาทลง การจัดสรรงบประมาณ การจัดการของท้องถิ่นทำได้ยาก มากกว่านั้นก็คือผู้ปกครองไม่ยอมรับ

แล้วถามว่า ปัญหานี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ใครเป็นคนรับผิดชอบ และใครที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุด?

สาเหตุหนึ่งของการที่ไม่มีนักเรียนมาเรียนในโรงเรียน อาจเป็นเพราะคุณภาพการศึกษา หรือกระแสความนิยมของผู้ปครองที่ส่งบุตรหลานไปเรียนในเมือง เพราะเดี๋ยวนี้การอำนวยความสะดวกมีเยอะ อีกทั้งการศึกษากลายเป็นธุรกิจไปแล้ว

ทางออกที่เห็นว่า ค่อนข้างประสบความสำเร็จก็คือ การควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ที่มีนักเรียนน้อยไปเป็นศูนย์เรียนรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ใน ต.วังน้ำคู้ อ.เมือง จ.พิษณุโลก ซึ่งรวมโรงเรียน จำนวน 4 โรง ได้แก่ รร.วัดปากพิงตะวันออก รร.บ้านวังยาง รร.บ้านหนองหญ้า และ รร.วัดไผ่หลงราษฎร์เจริญ เข้าด้วยกัน

การจัดการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็กในเขต ต.วังน้ำคู้ ถือว่าเป็นแห่งแรกของประเทศไทย หลังพบปัญหาและอุปสรรคในการพัมนาคุณภาพการศึกษา คือ นักเรียนมีจำนวนน้อยลงทุกปี คุณภาพการจัดการศึกษาค่อนข้างต่ำ ทำให้ผลสัมฤทธิ์ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ การขาดแคลนบุคลากร เช่น ครูสอนไม่ครบชั้น ได้รับงบประมาณน้อย ส่งผลให้ไม่เพียงพอต่อการจัดหาสื่อการสอน


นายวิเศษ ยาคล้าย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลวังน้ำคู้ กล่าวว่า ศูนย์การเรียนรวมเริ่มเมื่อปีพ.ศ.2548 ซึ่งตนได้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันในด้านการศึกษา จึงเอาวิกฤตตรงนี้มาสร้างเป็นโอกาส โดยเริ่มจากการประสานงานกับอาจารย์ใหญ่ของแต่ละโรงเรียน ในการขยายแนวคิดเพื่อนำนักเรียนทุกโรงเรียนที่มีนักเรียนและครูจำนวนน้อยมารวมกัน ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เนื่องจากครูได้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้น

การจัดการร่วมกันระหว่างครูกับท้องถิ่นก็คือ การนำนักเรียนแต่ละชั้นปีมาเรียนรวมกัน ทำให้แต่ละชั้นเรียนมีมากขึ้น ครูมีการจัดตารางเรียน มีการแบ่งหน้าที่กันสอนในแต่ละวิชาตามความถนัด นอกจากนี้จะต้องทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง เนื่องจากผู้ปกครองส่วนใหญ่คิดว่า การยุบโรงเรียนในหมู่บ้านของตนเองจะทำให้บุตรหลานต้องเดินทางไกล เกิดผลกระทบทางด้านจิตใจ ท้ายที่สุดนำไปสู่การต่อต้านครูและผู้นำท้องถิ่น

การทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง จึงเป็นเรื่องยาก เพราะต้องอธิบายเหตุผล ความไว้วางใจต่างๆ ผลสรุปก็คือว่า ทุกวันศุกร์นักเรียนจะกลับมาที่โรงเรียนเดิมของตนเอง โดยที่ไม่ทำให้เกิดความรู้สึกว่าโรงเรียนตนเองถูกยุบ และไม่ให้กลายเป็นโรงเรียนร้าง จนถึงปัจจุบัน ต.วังน้ำคู้สามารถจัดการตรงนี้ได้และมองเห็นถึงความสำเร็จ ซึ่งอบต.ได้สนับสนุนงบประมาณ ไม่ว่าจะเป็นอาหารกลางวัน นม รถไป-กลับในส่วนของนักเรียนที่เดินทางไกล

นางชฎารัตน์ โมสกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองหญ้า ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงเรียนที่ถูกรวมอยู่กับศูนย์การเรียนรวม ต.วังน้ำคู้ กล่าวว่า จากการจัดทำศูนย์การเรียนรวม ทำให้นักเรียนมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น การเรียนอยู่ในเกณฑ์ดี สามารถสอบเข้าศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาในโรงเรียนต่างๆ ได้จำนวนมาก อีกทั้งมุมมองของเด็กที่มีต่อสังคมและสิ่งต่างๆ รอบตัวก็ดีขึ้นเช่นกัน มีความสามารถที่จะเข้าร่วมกิจกรรมกับสังคมได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ การรวมศูนย์การเรียนยังมีปัญหาอยู่บ้าง เนื่องจากการบริหารงบประมาณยังไม่ลงตัว อีกทั้งการจัดการด้านการบริหารยังติดขัดอยู่บ้าง เช่น ครูเกษียณก่อนกำหนดบ้าง ทั้งนี้ยอมรับว่าจากเดิมไม่ได้รับการยอมรับจากผู้ปกครองเท่าที่ควร เกิดความลำบากใจ ครูบางคนก็กังวลว่าจะได้ย้ายตำแหน่ง ถึงอย่างไรก็ตาม แม้จะมีการรวมศูนย์การเรียนแล้ว ก็ยังขาดแคลนบุคลากรอยู่ดี รวมถึงการขาดอุปกรณ์การเรียนการสอน โดยเฉพาะอุปกรณ์ทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ และตอนนี้ก็คงต้องดำเนินโครงการนี้ต่อไปเรื่อยๆ จะกลับไปเป็นแยกโรงเรียนให้เหมือนเดิมก็คงยาก เพราะอย่างน้อยการรวมโรงเรียนขนาดเล็กก็ยังดีกว่าถูกยุบไปเลย

ขณะที่ผู้ปกครองและนักเรียน ต่างก็สะท้อนเป็นเสียงเดียวกันว่า รู้สึกกังวลที่จะต้องเดินทางไกล มากกว่านั้นคือความรู้สึกว่าโรงเรียนตนเองต้องถูกยุบ และมองไม่เห็นถึงผลที่จะได้รับหลังจากการยุบโรงเรียนรวมกัน เมื่อผลที่ได้รับก็ทำให้รู้สึกพอใจ อบต.ให้การสนับสนุนเต็มที่ นักเรียนจากเดิมที่มีชั้นละ 3-4 คน ได้เรียนบ้างไม่ได้เรียนบ้าง ก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นและได้เรียนอย่างเต็มที่

นี่จึงเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่สามารถให้คำตอบได้ว่า โรงเรียนขนาดเล็กควรถูกยุบหรือไม่ และจะหาทางออกอย่างไรดี เพราะบางที่ผู้ปกครองถึงขั้นเก็บเงินเพื่อจ้างครูสอนด้วยซ้ำไป

ท้ายที่สุดแล้ว หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ปกครอง ครู และชุมชน ตระหนักถึงปัญหาร่วมกัน และช่วยกันฝ่าวิกฤตตรงนี้ไปได้ ก็เชื่อว่าอนาคตการศึกษาของเด็กไทย โดยเฉพาะท้องถิ่นยังไปได้อีกไกล

ฉะนั้นการรวมศูนย์การเรียนของ ต.วังน้ำคู้ น่าจะเป็นตัวอย่าง ที่สอดรับกับการพัฒนาระบบการศึกษา มากกว่านั้นคือ ความรู้สึกว่าโรงเรียนถูกยุบ ก็จะหมดไป


ที่มา : http://www.matichon.co.th

ไม่มีความคิดเห็น: