วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ให้ตำแหน่ง คศ.3 แก่ครูอย่างไร : คุณภาพเด็กไทยจะไม่แย่ลง

ให้ตำแหน่ง คศ.3 แก่ครูอย่างไร : คุณภาพเด็กไทยจะไม่แย่ลง

โดย บุญมี พันธุ์ไทย รองศาสตราจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง.....

ปัจจุบันเรายอมรับกันแล้วว่า คุณภาพเด็กไทยแย่ลงแต่ครูได้ตำแหน่งสูงขึ้น เป็น คศ.3 (ระดับ 8) คศ.4 (ระดับ 9) คศ.5 (ระดับ 10) ครูที่ได้ตำแหน่งสูงขึ้นนี้หมายถึง ครูคนนั้นต้องมีความชำนาญการ และความเชี่ยวชาญในการสอน หรือสอนเก่งนั่นเอง

เมื่อครูสอนเก่งแล้ว ทำไมคุณภาพเด็กยังแย่อยู่โรงเรียนขนาดเล็กบางโรงมีนักเรียนทั้งหมด (ทุกระดับชั้น) ไม่เกิน 100 คน มีครูที่ได้ คศ.3 หลายคนแต่ทำไมเด็กยังอ่านหนังสือไม่ออก เขียนไม่ได้คิดเลขไม่เป็นเหมือนเดิม ซึ่งสวนทางกันกับความก้าวหน้าในตำแหน่งของครูที่สูงขึ้น

จากการสอบถามลูกศิษย์ที่เป็นครู ซึ่งมาเรียนในระดับปริญญาโททั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดโดยถามว่าพวกครูเขาทำผลงานทางวิชาการเพื่อขอตำแหน่ง คศ.3 กันอย่างไร

ก็จะพบคำตอบตรงกันว่า พวกครูจะทุ่มเทกันมากในการทำผลงานทางวิชาการ ส่วนงานสอนจะเป็นงานรอง ผลงานทางวิชาการครูหลายคนก็ไม่ได้เขียนขึ้นเอง ให้คนอื่นเขียนให้ (จ้างทำผลงาน)โดยตัวเองเป็นผู้หาข้อมูล หรือหลักฐานต่างๆ มาให้ผู้รับจ้าง

หลักฐานต่างๆ ที่จะนำมาประกอบในการเขียนนั้นก็จะมีการสมยอม และร่วมมือกันระหว่างครูที่อยู่ในโรงเรียนใกล้เคียง เช่น มีการทำหนังสือรับรองว่าได้นำผลงานไปใช้สอนแล้วทำให้เกิดผลดีกับนักเรียน อย่างนั้น อย่างนี้ ทั้งๆ ที่ไม่ได้ใช้สอนจริงและไม่เคยเห็นผลงานนั้นเลยด้วยซ้ำ หรือให้เพื่อนครูช่วยเขียนคำนิยม ชมเชยผลงานให้ เป็นต้น

ผลงานที่ครูทำเสร็จแล้ว ซึ่งอาจจะทำขึ้นเองหรือจ้างคนอื่นทำก็ตาม ไม่ได้นำไปใช้สอนนักเรียนอย่างจริงจังในสภาพปกติ

คะแนนของนักเรียนที่นำมาเขียนรายงานการใช้เอกสาร หรือข้อมูลต่างๆ ก็สร้างขึ้นเอง (ยกเมฆขึ้นเนื่องจากไม่ได้มีการตรวจสอบ)

ก็ไม่อยากจะโทษครูในเรื่องเหล่านี้ เพราะว่า กฎระเบียบ กำหนดกันไว้อย่างนั้นว่าให้ประเมินผลงานที่เป็นเอกสาร (ส่วนใหญ่จะเป็นผลงานทางด้านเอกสารมากกว่าผลงานที่เป็นอุปกรณ์การสอน)

ผู้เขียนเคยไปเป็นวิทยากร บรรยายเกี่ยวกับการทำผลงานทางวิชาการให้กับครูในโรงเรียนต่างๆหลายแห่ง เคยพูดทีเล่นทีจริงเสมอว่า ครูที่จะได้คศ.3 ต้องเป็นครูที่เขียนเก่ง คือเขียนให้กรรมการประเมินอ่านแล้วคล้อยตาม หรือเชื่อว่าเราเก่งจริงตามที่เขียน ซึ่งในทางปฏิบัติอาจจะสอนไม่ได้เรื่องเลยก็ได้

ครูบางคนสอนเก่งมาก (ถ้าเอ่ยชื่อแล้วในวงการครูจะรู้จักกันดี) จนเด็กได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย แต่เขียนไม่เก่งหรือไม่ชอบเขียนก็จะไม่ได้ คศ.3

เกณฑ์การประเมินผลงานอย่างนี้ทำกันมา 20 กว่าปีแล้ว แม้ว่าจะมีการปรับปรุงแก้ไขบ้าง แต่หลักเกณฑ์ใหญ่ๆ ก็ยังเหมือนเดิม คือครูก็ยังต้องทิ้งห้องเรียนไปทำผลงานทางวิชาการเหมือนเดิม

และตอนนี้ใครที่จะขอ คศ.3 จะต้องไปอบรมตามเกณฑ์ใหม่ก่อนจึงจะเสนอขอตำแหน่งได้ เกณฑ์การประเมินอย่างนี้หรือที่จะทำให้เด็กไทยเรามีคุณภาพดีขึ้น

เมื่อเกณฑ์การประเมินที่ใช้อยู่ในขณะนี้มีปัญหาต่อคุณภาพของเด็ก ก็สมควรที่จะยกเลิกให้หมด และมากำหนดเกณฑ์การประเมินใหม่โดยยึดคุณภาพที่ตัวเด็กเป็นสำคัญ

นั่นคือถ้าครูคนไหนสอนแล้วเด็กมีคุณภาพตามเกณฑ์ ก็ให้ตำแหน่ง คศ.3 คศ.4 หรือ คศ.5 ไปเลยโดยไม่ต้องสนใจว่าครูคนนั้นจะใช้เทคนิคการสอนอย่างไร มีเอกสารหรืออุปกรณ์การสอนอะไรบ้างมากน้อยแค่ไหน

ถ้ายิ่งครูคนไหนสอนอยู่ในโรงเรียนที่ยากจน แต่สอนเด็กให้มีคุณภาพเท่ากับโรงเรียนที่ร่ำรวยทั้งหลายก็ควรจะให้ตำแหน่ง คศ.4 หรือ คศ.5 เลย

เหมือนกับอาจารย์ในมหาวิทยาลัยบางคน ที่เก่งมากๆยังได้เลื่อนตำแหน่ง จากอาจารย์เป็นรองศาสตราจารย์หรือศาสตราจารย์ โดยไม่ต้องผ่านตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์มาก่อน

เกณฑ์การประเมิน คศ.3 โดยยึดที่ตัวนักเรียนเป็นสำคัญ ขอเสนอแนวทางดังนี้

1.จัดโรงเรียนเป็นกลุ่มๆ ตามคุณภาพ โดยใช้คะแนนสอบของสำนักทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(สทศ.) หรือสำนักทดสอบทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ อาจจะจัดเป็นกลุ่มภายในเขตพื้นที่เดียวกัน หรือจัดกลุ่มทั้งประเทศก็ได้

2.กำหนดเกณฑ์การประเมิน คศ.3 แต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ ในแต่ละกลุ่มคุณภาพโรงเรียน (กลุ่มคุณภาพโรงเรียนแต่ละกลุ่มจะมีเกณฑ์การประเมินต่างกัน)

3.กำหนดตัวชี้วัดคุณภาพของเด็กในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้

4.สร้างแบบทดสอบตามตัวชี้วัดคุณภาพทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ หลายๆ ชุดที่มีคุณภาพเท่าเทียมกัน

5.การประเมินตำแหน่ง คศ.3 ของครูที่สอนแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ อาจจะอยู่กลุ่มคุณภาพโรงเรียนเดียวกันหรือต่างกลุ่มกัน จะประเมินด้วยแบบทดสอบ ที่สร้างขึ้นตามข้อ 4 หรือใช้คะแนนสอบของ สทศ. กับสำนักทดสอบทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ

6.การตัดสินว่าใครจะได้หรือไม่ได้ คศ.3 จะใช้เกณฑ์การประเมินของแต่ละกลุ่มคุณภาพโรงเรียนที่กำหนดขึ้นตามข้อ 2

เกณฑ์การประเมินแนวทางนี้ เชื่อว่าจะทำให้ครูอยู่ในห้องเรียน และทุ่มเทกับการสอนเด็กมากขึ้นถ้าเป็นอย่างนี้แล้วเด็กไทยก็น่าจะมีคุณภาพ สูงขึ้น

ถ้าจะใช้เกณฑ์การประเมินตามแนวทางนี้โรงเรียนต้องจัดนักเรียนเข้าห้องเรียน แบบคละกันคือแต่ละห้องเรียนมีนักเรียนเก่งและอ่อนพอๆ กันถ้าไม่จัดแบบนี้ครูก็จะแย่งกันสอนแต่ห้องที่มีนักเรียนเก่งๆ

ก็ขอวิงวอนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนปัจจุบัน (นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ) แทนเด็กๆผู้ปกครอง และครู ขอให้ท่านประกาศยกเลิกเกณฑ์การประเมินตำแหน่ง คศ.3 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และมาพิจารณาเกณฑ์ตามแนวทางที่นำเสนอ ข้างต้น

ถ้าท่านรัฐมนตรีทำได้ ก็น่าจะได้รับเสียงสนับสนุนอย่างมาก จากเด็กๆ ผู้ปกครอง ครู และท่านยังได้สร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์อันยิ่งใหญ่ให้กับเยาวชนของชาติที่จะ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่อไปในอนาคต.



ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

ไม่มีความคิดเห็น: