วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ทะเบียนประวัติแบบใหม่แทน ก.พ.7 สามารถพิมพ์ได้เองที่สถานศึกษา

ทะเบียนประวัติแบบใหม่แทน ก.พ.7 สามารถพิมพ์ได้เองที่สถานศึกษา

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 9/2554 เมื่อวันที่ 17พฤศจิกายน 2554 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีสาระสำคัญสรุปดังนี้



เห็นชอบจัดทำระบบทะเบียนประวัติแบบใหม่แทน ก.พ.7 สามารถพิมพ์ได้เองที่สถานศึกษา

ที่ประชุมเห็นชอบร่างระเบียบ ก.ค.ศ. ว่าด้วยระบบทะเบียนประวัติข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ... ซึ่งมีข้อดีคือ จะทำให้ระบบทะเบียนประวัติทั้งระบบเอกสาร และระบบอิเล็กทรอนิกส์ ดำเนินการได้อย่างคล่องตัว ทำให้การเรียนการสอนมีคุณภาพมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาพบว่าครูจำนวนกว่า 5 แสนคนทั่วประเทศ ต้องออกจากห้องเรียนมาทำธุรกรรมส่วนตัวในการขอสำเนา ก.พ.7 เฉลี่ย 2 วันต่อ 1 คนต่อปี ดังนั้นหากยังใช้ระบบ ก.พ.7 แบบเดิม ใน 1 ปีจะมีครูออกจากห้องเรียนถึง 1 ล้านวัน แต่หากใช้ระบบทะเบียนประวัติแบบใหม่ (CMSS) ครูสามารถพิมพ์ทะเบียนประวัติได้ที่สถานศึกษา โดยการรับรองของผู้อำนวยการสถานศึกษา

ทั้งนี้ ให้ทุกเขตพื้นที่การศึกษาและทุกส่วนราชการ จัดทำระบบทะเบียนประวัติแบบใหม่ ให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ระเบียบนี้มีผลบังคับใช้





ขอบคุณที่มาจาก
http://www.moe.go.th/websm/2011/nov/306.html

ก.ค.ศ.เห็นชอบการประเมินวิทยฐานะเชิงประจักษ์ ตาม ว5

ก.ค.ศ.เห็นชอบการประเมินวิทยฐานะเชิงประจักษ์ ตาม ว5

ก.ค.ศ.เห็นชอบการประเมินวิทยฐานะเชิงประจักษ์ ตาม ว5

จากการที่ ก.ค.ศ. ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้มีผลงานดีเด่นที่ประสบผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์มีวิทยฐานะหรือเลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ และวิทยฐานะเชี่ยวชาญ ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ด่วนที่สุด ที่ ศธ 0206.3/ว 5 ลงวันที่ 12 เมษายน 2554 โดยเห็นชอบให้ส่วนราชการต้นสังกัดเสนอรายชื่อข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้ารับการประเมินตามหลักเกณฑ์และวิธีการนี้ โดยเรียงลำดับคุณภาพของผลงานดีเด่นที่ประสบผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์และองค์ประกอบอื่นตามความเหมาะสม และให้เสนอรายชื่อข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาดังกล่าวได้เพียง 1 ครั้งในคราวเดียวกัน พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานถึงสำนักงาน ก.ค.ศ. ภายในวันที่ 30 กันยายน 2554 หลังจากนั้นให้สำนักงาน ก.ค.ศ.นำข้อมูลผู้ขอรับการประเมินเสนอ ก.ค.ศ. เพื่อพิจารณาเห็นชอบก่อนดำเนินการประเมิน ติดตามการประเมินและสรุปรายงานเสนอ ก.ค.ศ. เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการให้เหมาะสมต่อไป

ขณะนี้ สำนักงาน ก.ค.ศ. ได้รับคำขอให้มีวิทยฐานะหรือเลื่อนวิทยฐานะฯ รวม 451 ราย จำแนกเป็นผู้ขอมีหรือเลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ 184 ราย และวิทยฐานะเชี่ยวชาญ 267 ราย ซึ่งได้พิจารณาจำนวนคำขอดังกล่าวแล้ว เห็นว่าอยู่ในวิสัยที่สามารถดำเนินการประเมินได้ทั้งหมด

ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้ดำเนินการประเมินคำขอทุกรายที่มีคุณสมบัติครบถ้วนและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ฯ ซึ่งผ่านการพิจารณาของ อ.ก.ค.ศ.วิสามัญเฉพาะกิจเพื่อพิจารณากลั่นกรอง ตรวจสอบ และวินิจฉัยคุณสมบัติของผู้ได้รับการคัดเลือก และพิจารณาคำร้องคัดค้านแล้ว





ขอบคุณที่มาจาก
http://www.moe.go.th/websm/2011/nov/306.html

ก.ค.ศ.เห็นชอบให้นำมาตรฐานตำแหน่งของขรก.พลเรือนฯ มาใช้บังคับกับบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา38ค.(2)

ก.ค.ศ.เห็นชอบให้นำมาตรฐานตำแหน่งของขรก.พลเรือนฯ มาใช้บังคับกับบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา38ค.(2)

ก.ค.ศ.เห็นชอบให้นำมาตรฐานกำหนดตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนสามัญ มาใช้บังคับกับบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค.(2)


นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 9/2554 เมื่อวันที่ 17พฤศจิกายน 2554 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีสาระสำคัญสรุปดังนี้


เห็นชอบให้นำมาตรฐานกำหนดตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนสามัญ มาใช้บังคับกับบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค.(2)

ที่ประชุมเห็นชอบการนำมาตรฐานกำหนดตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนสามัญ ตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1008/ว 10 ลงวันที่ 11 ธันวาคม 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาใช้บังคับกับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค.(2) ตามประเภทสายงาน และระดับตำแหน่งที่ ก.ค.ศ. กำหนด จำนวน 20 สายงาน ดังนี้

1) ตำแหน่งประเภททั่วไป 8 สายงาน ตำแหน่งระดับปฏิบัติงาน-ชำนาญงาน คือ เจ้าพนักงานธุรการ เจ้าพนักงานห้องสมุด เจ้าพนักงานโสตทัศนศึกษา นายช่างไฟฟ้า นายช่างโยธา พยาบาลเทคนิค ส่วนตำแหน่งระดับปฏิบัติการ-อาวุโส คือ เจ้าพนักงานการเงินและบัญชี และเจ้าพนักงานพัสดุ

2) ตำแหน่งประเภทวิชาการ 12 สายงาน ตำแหน่งระดับปฏิบัติการ-เชี่ยวชาญ คือ นิติกร นักวิเคราะห์นโยบายและแผน นักวิชาการศึกษา ตำแหน่งระดับปฏิบัติการ-ชำนาญการพิเศษ คือ นักจัดการงานทั่วไป นักวิชาการเงินและบัญชี นักวิชาการพัสดุ นักวิชาการตรวจสอบภายใน นักทรัพยากรบุคคล นักวิชาการคอมพิวเตอร์ นักประชาสัมพันธ์ บรรณารักษ์ และพยาบาลวิชาชีพ





ขอบคุณที่มาจาก
http://www.moe.go.th/websm/2011/nov/306.html

ก.ค.ศ.เห็นชอบร่างหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินวิทยฐานะ

ก.ค.ศ.เห็นชอบร่างหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินวิทยฐานะ

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 9/2554 เมื่อวันที่ 17พฤศจิกายน 2554 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีสาระสำคัญสรุปดังนี้



เห็นชอบร่างหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินวิทยฐานะ

จากการที่ ก.ค.ศ.ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีวิทยฐานะหรือเลื่อนวิทยฐานะ ตามหลักเกณฑ์ ว17/2552 ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ประเมินจากผลสัมฤทธิ์ของการจัดการเรียนการสอนหรือการบริหารจัดการศึกษา และหลักเกณฑ์ ว5/2554 หรือที่เรียกกันว่าเกณฑ์เชิงประจักษ์นั้น การประเมินทั้ง 2 หลักเกณฑ์ดังกล่าว ผู้ขอรับการประเมินจะได้รับการประเมินใน 3 ด้าน แต่ที่ผ่านมาพบว่าข้าราชการครูฯ มีความวิตกกังวลกับการจัดทำผลการปฏิบัติงาน (ด้านที่ 3) ประกอบด้วยผลการพัฒนาคุณภาพการปฏิบัติงานและผลงานทางวิชาการ ซึ่งอาจเป็นเพราะขาดความชำนาญในการวิจัยหรือการถ่ายทอดประสบการณ์ในการทำงานในรูปแบบของผลงานทางวิชาการ ส่งผลให้ส่วนใหญ่ไม่ผ่านการประเมิน ทั้งยังอาจส่งผลถึงปัญหาการจ้างทำผลงานทางวิชาการ ลอกเลียน หรือคัดลอกผลงานทางวิชาการ ครูทิ้งห้องเรียนเพราะมุ่งทำผลงานทางวิชาการ เป็นต้น ดังนั้น ศธ.จึงมีนโนบายในการประเมินข้าราชการครูฯ ให้มีหรือเลื่อนวิทยฐานะ โดยเน้นไปที่ผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนเป็นสำคัญ จึงต้องการให้ผู้ปกครอง ชุมชน สมาคม และชมรมวิชาการต่างๆ ที่ใกล้ชิดกับสถานศึกษา ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินมากขึ้น

ที่ประชุมพิจารณาแล้ว เห็นชอบในหลักการร่างหลักเกณฑ์และวิธีการดังกล่าว คือ


ให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเสนอแนวทางการพัฒนางาน ซึ่งจะต้องครอบคลุมถึงการปฏิบัติงานและผลงานที่แสดงถึงการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน เช่น ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน เป็นต้น ทั้งนี้จะต้องกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดในการพัฒนาที่ชัดเจน รวมทั้งต้องมีผลผลิตและผลสัมฤทธิ์เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้

ให้ส่วนราชการต้นสังกัดคัดกรองข้าราชการครูฯ ผู้ที่จะเสนอแนวทางในการพัฒนางาน เช่น กำหนดว่าต้องเป็นข้าราชการครูฯ ที่ปฏิบัติงานในสถานศึกษาที่มีผลการพัฒนาผล สัมฤทธิ์เป็นไปตามเป้าหมาย หรือเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ส่วนราชการกำหนด หรือคัดกรองจากผู้ที่เสนอโครงการในการพัฒนาการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ เป็นต้น

กำหนดให้มีการประเมินคุณธรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพ กระบวนการและผลที่เกิดจากการปฏิบัติงาน โดยมุ่งเน้นวิธีการประเมินตามสภาพจริง ณ สถานที่ปฏิบัติงานและกำหนดระยะเวลาในการประเมินหลังจากการยื่น MOU แล้ว เป็นระยะๆ ภาคเรียนละ 1 ครั้ง ในแต่ละวิทยฐานะ คือ วิทยฐานะชำนาญการ ใช้ระยะเวลาในการประเมิน 2 ปี วิทยฐานะชำนาญการพิเศษขึ้นไป ใช้ระยะเวลาในการประเมิน 3 ปี

เน้นการมีส่วนร่วมในการประเมิน เช่น ให้ผู้ปกครอง ชุมชน สมาคม และชมรมทางวิชาการต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการประเมิน

ก.ค.ศ. จะเป็นผู้ประเมินเมื่อครบระยะเวลาที่กำหนดของการทำ MOU

ข้าราชการครูฯ ผู้ใดย้ายระหว่างช่วงเวลาของ MOU ถือว่าข้าราชการครูฯ ผู้นั้นสละสิทธิ์การขอรับการประเมิน


อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมขอให้จัดทำเกณฑ์การประเมิน โดยเทียบเคียงกับเกณฑ์ประเมินของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ในเชิง Fast Track ที่มุ่งเน้นการจัดทำผลงานทางวิชาการที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคม





ขอบคุณทีมาจาก
http://www.moe.go.th/websm/2011/nov/306.html

ก.ค.ศ.เห็นชอบร่างหลักเกณฑ์ฯ บรรจุและแต่งตั้ง ผอ.สถานศึกษา และรอง ผอ.สถานศึกษา

ก.ค.ศ.เห็นชอบร่างหลักเกณฑ์ฯ บรรจุและแต่งตั้ง ผอ.สถานศึกษา และรอง ผอ.สถานศึกษา

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 9/2554 เมื่อวันที่ 17พฤศจิกายน 2554 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับร่างหลักเกณฑ์ฯ บรรจุและแต่งตั้ง ผอ.สถานศึกษา และรอง ผอ.สถานศึกษา ในพื้นที่ปกติ และในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ สรุปดังนี้

►เห็นชอบร่างหลักเกณฑ์ฯ บรรจุและแต่งตั้ง ผอ.สถานศึกษา และรอง ผอ.สถานศึกษา ในพื้นที่ปกติ และในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้


ที่ประชุมเห็นชอบร่างหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษา ในพื้นที่ปกติและในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ เฉพาะจังหวัด ยะลา นราธิวาส ปัตตานี และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา (อำเภอจะนะ สะบ้าย้อย เทพา และนาทวี) โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

หลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดนี้ ให้ใช้กับทุกส่วนราชการ

การสรรหาแบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ วิธีสอบคัดเลือก และวิธีคัดเลือก

กำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิสมัครเข้ารับการสรรหา ไว้ต่างกัน ดังนี้ กลุ่มสอบคัดเลือก ผู้สมัครมีคุณสมบัติตรงตามมาตรฐานตำแหน่ง กลุ่มคัดเลือก ผู้สมัครมีคุณสมบัติตามมาตรฐานตำแหน่งบวกเพิ่มประสบการณ์และวิทยฐานะ

หลักสูตรการประเมิน 1) กลุ่มสอบคัดเลือก ประเมิน 2 ภาค คือ ภาค ก. ประเมินสมรรถนะทางการบริหาร ความรู้ความสามารถทั่วไปและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน และภาค ข. ประเมินความเหมาะสมกับตำแหน่ง โดยการประเมินวิสัยทัศน์ แนวคิด วิธีการ และข้อเสนอในการพัฒนาสถานศึกษา และสัมภาษณ์ 2) กลุ่มคัดเลือก ประเมิน 2 ภาค คือ ภาค ก ประเมินจากผลงานที่ประสบความสำเร็จ ภาค ข ประเมินความเหมาะสมกับตำแหน่ง โดยการประเมินวิสัยทัศน์ แนวคิด วิธีการ และข้อเสนอในการพัฒนาสถานศึกษา และสัมภาษณ์

เกณฑ์การตัดสิน เกณฑ์ผ่านการประเมิน ภาค ก และ ภาค ข แต่ละภาคไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60

ผู้รับผิดชอบการประเมิน
1) พื้นที่ปกติ การประเมินภาค ก ทั้งกลุ่มสอบคัดเลือกและกลุ่มคัดเลือก ให้ สพฐ.ดำเนินการประเมิน ส่วนการประเมินภาค ข ให้ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาเป็นผู้ดำเนินการ โดยต้องกำหนดสัดส่วนตำแหน่งว่างที่จะใช้บรรจุและแต่งตั้งสำหรับกลุ่มสอบคัดเลือกและกลุ่มคัดเลือกให้ใกล้เคียงกัน
2) เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ การประเมินทั้งภาค ก และภาค ข กำหนดให้ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาเป็นผู้ดำเนินการ โดยกำหนดสัดส่วนตำแหน่งว่างกลุ่มสอบคัดเลือก ร้อยละ 30 และกลุ่มคัดเลือก ร้อยละ 70 กรณีที่กำหนดสัดส่วนแตกต่างจากที่กำหนดให้เสนอส่วนราชการพิจารณา

การประกาศขึ้นบัญชี พื้นที่ปกติ ประกาศขึ้นบัญชีผู้ได้รับคัดเลือกภาค ข แยกเป็น 2 กลุ่ม ตามลำดับผลคะแนนจากมากไปหาน้อย พื้นที่พิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกาศขึ้นบัญชีผู้ผ่านเกณฑ์การประเมินภาค ก และ ภาค ข และปฏิบัติเช่นเดียวกับพื้นที่ปกติ

การประกาศขึ้นบัญชีผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นบัญชีรวม ภาค ข และการยกเลิกบัญชีรวม ภาค ข หลังจากบรรจุและแต่งตั้งผู้ได้รับการคัดเลือกตามลำดับผลคะแนนทั้ง 2 กลุ่มแล้ว ให้ประกาศขึ้น บัญชีรวมเป็นบัญชีเดียว โดยนำรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกที่เหลือมาจัดลำดับใหม่ตามคะแนนผลการประเมินภาค ข จากมากไปหาน้อย เพื่อใช้บรรจุและแต่งตั้งต่อไป โดยบัญชีรวม ภาค ข จะมีอายุเท่ากับบัญชี ภาค ก

การบรรจุและแต่งตั้ง ให้บรรจุและแต่งตั้งครั้งแรกจากผู้ได้รับการคัดเลือกตามลำดับในบัญชีกลุ่ม สอบคัดเลือกและกลุ่มคัดเลือกตามจำนวนตำแหน่งว่างที่ประกาศรับสมัคร หากมีตำแหน่งว่างเพียง 1 ตำแหน่ง ให้เรียกบรรจุจัดบัญชีสอบคัดเลือกก่อน สำหรับเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เรียกบรรจุจากบัญชีคัดเลือกก่อน หลังการบรรจุและแต่งตั้งครั้งแรก ให้เรียกบรรจุจากผู้ได้รับคัดเลือกจากบัญชีรวม ภาค ข

เงื่อนไขพิเศษพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ฯ ผู้ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 4 ปี นับแต่วันที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้ง และให้ผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือกที่ปฏิบัติงานอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีสิทธินับระยะเวลาทวีคูณ ในการคำนวณระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง





ขอบคุณที่มาจาก
http://www.moe.go.th/websm/2011/nov/306.html

ให้ตำแหน่ง คศ.3 แก่ครูอย่างไร : คุณภาพเด็กไทยจะไม่แย่ลง

ให้ตำแหน่ง คศ.3 แก่ครูอย่างไร : คุณภาพเด็กไทยจะไม่แย่ลง

โดย บุญมี พันธุ์ไทย รองศาสตราจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง.....

ปัจจุบันเรายอมรับกันแล้วว่า คุณภาพเด็กไทยแย่ลงแต่ครูได้ตำแหน่งสูงขึ้น เป็น คศ.3 (ระดับ 8) คศ.4 (ระดับ 9) คศ.5 (ระดับ 10) ครูที่ได้ตำแหน่งสูงขึ้นนี้หมายถึง ครูคนนั้นต้องมีความชำนาญการ และความเชี่ยวชาญในการสอน หรือสอนเก่งนั่นเอง

เมื่อครูสอนเก่งแล้ว ทำไมคุณภาพเด็กยังแย่อยู่โรงเรียนขนาดเล็กบางโรงมีนักเรียนทั้งหมด (ทุกระดับชั้น) ไม่เกิน 100 คน มีครูที่ได้ คศ.3 หลายคนแต่ทำไมเด็กยังอ่านหนังสือไม่ออก เขียนไม่ได้คิดเลขไม่เป็นเหมือนเดิม ซึ่งสวนทางกันกับความก้าวหน้าในตำแหน่งของครูที่สูงขึ้น

จากการสอบถามลูกศิษย์ที่เป็นครู ซึ่งมาเรียนในระดับปริญญาโททั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดโดยถามว่าพวกครูเขาทำผลงานทางวิชาการเพื่อขอตำแหน่ง คศ.3 กันอย่างไร

ก็จะพบคำตอบตรงกันว่า พวกครูจะทุ่มเทกันมากในการทำผลงานทางวิชาการ ส่วนงานสอนจะเป็นงานรอง ผลงานทางวิชาการครูหลายคนก็ไม่ได้เขียนขึ้นเอง ให้คนอื่นเขียนให้ (จ้างทำผลงาน)โดยตัวเองเป็นผู้หาข้อมูล หรือหลักฐานต่างๆ มาให้ผู้รับจ้าง

หลักฐานต่างๆ ที่จะนำมาประกอบในการเขียนนั้นก็จะมีการสมยอม และร่วมมือกันระหว่างครูที่อยู่ในโรงเรียนใกล้เคียง เช่น มีการทำหนังสือรับรองว่าได้นำผลงานไปใช้สอนแล้วทำให้เกิดผลดีกับนักเรียน อย่างนั้น อย่างนี้ ทั้งๆ ที่ไม่ได้ใช้สอนจริงและไม่เคยเห็นผลงานนั้นเลยด้วยซ้ำ หรือให้เพื่อนครูช่วยเขียนคำนิยม ชมเชยผลงานให้ เป็นต้น

ผลงานที่ครูทำเสร็จแล้ว ซึ่งอาจจะทำขึ้นเองหรือจ้างคนอื่นทำก็ตาม ไม่ได้นำไปใช้สอนนักเรียนอย่างจริงจังในสภาพปกติ

คะแนนของนักเรียนที่นำมาเขียนรายงานการใช้เอกสาร หรือข้อมูลต่างๆ ก็สร้างขึ้นเอง (ยกเมฆขึ้นเนื่องจากไม่ได้มีการตรวจสอบ)

ก็ไม่อยากจะโทษครูในเรื่องเหล่านี้ เพราะว่า กฎระเบียบ กำหนดกันไว้อย่างนั้นว่าให้ประเมินผลงานที่เป็นเอกสาร (ส่วนใหญ่จะเป็นผลงานทางด้านเอกสารมากกว่าผลงานที่เป็นอุปกรณ์การสอน)

ผู้เขียนเคยไปเป็นวิทยากร บรรยายเกี่ยวกับการทำผลงานทางวิชาการให้กับครูในโรงเรียนต่างๆหลายแห่ง เคยพูดทีเล่นทีจริงเสมอว่า ครูที่จะได้คศ.3 ต้องเป็นครูที่เขียนเก่ง คือเขียนให้กรรมการประเมินอ่านแล้วคล้อยตาม หรือเชื่อว่าเราเก่งจริงตามที่เขียน ซึ่งในทางปฏิบัติอาจจะสอนไม่ได้เรื่องเลยก็ได้

ครูบางคนสอนเก่งมาก (ถ้าเอ่ยชื่อแล้วในวงการครูจะรู้จักกันดี) จนเด็กได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย แต่เขียนไม่เก่งหรือไม่ชอบเขียนก็จะไม่ได้ คศ.3

เกณฑ์การประเมินผลงานอย่างนี้ทำกันมา 20 กว่าปีแล้ว แม้ว่าจะมีการปรับปรุงแก้ไขบ้าง แต่หลักเกณฑ์ใหญ่ๆ ก็ยังเหมือนเดิม คือครูก็ยังต้องทิ้งห้องเรียนไปทำผลงานทางวิชาการเหมือนเดิม

และตอนนี้ใครที่จะขอ คศ.3 จะต้องไปอบรมตามเกณฑ์ใหม่ก่อนจึงจะเสนอขอตำแหน่งได้ เกณฑ์การประเมินอย่างนี้หรือที่จะทำให้เด็กไทยเรามีคุณภาพดีขึ้น

เมื่อเกณฑ์การประเมินที่ใช้อยู่ในขณะนี้มีปัญหาต่อคุณภาพของเด็ก ก็สมควรที่จะยกเลิกให้หมด และมากำหนดเกณฑ์การประเมินใหม่โดยยึดคุณภาพที่ตัวเด็กเป็นสำคัญ

นั่นคือถ้าครูคนไหนสอนแล้วเด็กมีคุณภาพตามเกณฑ์ ก็ให้ตำแหน่ง คศ.3 คศ.4 หรือ คศ.5 ไปเลยโดยไม่ต้องสนใจว่าครูคนนั้นจะใช้เทคนิคการสอนอย่างไร มีเอกสารหรืออุปกรณ์การสอนอะไรบ้างมากน้อยแค่ไหน

ถ้ายิ่งครูคนไหนสอนอยู่ในโรงเรียนที่ยากจน แต่สอนเด็กให้มีคุณภาพเท่ากับโรงเรียนที่ร่ำรวยทั้งหลายก็ควรจะให้ตำแหน่ง คศ.4 หรือ คศ.5 เลย

เหมือนกับอาจารย์ในมหาวิทยาลัยบางคน ที่เก่งมากๆยังได้เลื่อนตำแหน่ง จากอาจารย์เป็นรองศาสตราจารย์หรือศาสตราจารย์ โดยไม่ต้องผ่านตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์มาก่อน

เกณฑ์การประเมิน คศ.3 โดยยึดที่ตัวนักเรียนเป็นสำคัญ ขอเสนอแนวทางดังนี้

1.จัดโรงเรียนเป็นกลุ่มๆ ตามคุณภาพ โดยใช้คะแนนสอบของสำนักทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(สทศ.) หรือสำนักทดสอบทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ อาจจะจัดเป็นกลุ่มภายในเขตพื้นที่เดียวกัน หรือจัดกลุ่มทั้งประเทศก็ได้

2.กำหนดเกณฑ์การประเมิน คศ.3 แต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ ในแต่ละกลุ่มคุณภาพโรงเรียน (กลุ่มคุณภาพโรงเรียนแต่ละกลุ่มจะมีเกณฑ์การประเมินต่างกัน)

3.กำหนดตัวชี้วัดคุณภาพของเด็กในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้

4.สร้างแบบทดสอบตามตัวชี้วัดคุณภาพทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ หลายๆ ชุดที่มีคุณภาพเท่าเทียมกัน

5.การประเมินตำแหน่ง คศ.3 ของครูที่สอนแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ อาจจะอยู่กลุ่มคุณภาพโรงเรียนเดียวกันหรือต่างกลุ่มกัน จะประเมินด้วยแบบทดสอบ ที่สร้างขึ้นตามข้อ 4 หรือใช้คะแนนสอบของ สทศ. กับสำนักทดสอบทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ

6.การตัดสินว่าใครจะได้หรือไม่ได้ คศ.3 จะใช้เกณฑ์การประเมินของแต่ละกลุ่มคุณภาพโรงเรียนที่กำหนดขึ้นตามข้อ 2

เกณฑ์การประเมินแนวทางนี้ เชื่อว่าจะทำให้ครูอยู่ในห้องเรียน และทุ่มเทกับการสอนเด็กมากขึ้นถ้าเป็นอย่างนี้แล้วเด็กไทยก็น่าจะมีคุณภาพ สูงขึ้น

ถ้าจะใช้เกณฑ์การประเมินตามแนวทางนี้โรงเรียนต้องจัดนักเรียนเข้าห้องเรียน แบบคละกันคือแต่ละห้องเรียนมีนักเรียนเก่งและอ่อนพอๆ กันถ้าไม่จัดแบบนี้ครูก็จะแย่งกันสอนแต่ห้องที่มีนักเรียนเก่งๆ

ก็ขอวิงวอนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนปัจจุบัน (นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ) แทนเด็กๆผู้ปกครอง และครู ขอให้ท่านประกาศยกเลิกเกณฑ์การประเมินตำแหน่ง คศ.3 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และมาพิจารณาเกณฑ์ตามแนวทางที่นำเสนอ ข้างต้น

ถ้าท่านรัฐมนตรีทำได้ ก็น่าจะได้รับเสียงสนับสนุนอย่างมาก จากเด็กๆ ผู้ปกครอง ครู และท่านยังได้สร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์อันยิ่งใหญ่ให้กับเยาวชนของชาติที่จะ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่อไปในอนาคต.



ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

การพัฒนาการศึกษาด้วย "โรงเรียนครูไม่มีหนี้"

การพัฒนาการศึกษาด้วย "โรงเรียนครูไม่มีหนี้"

การบรรจุครูจบปริญญาตรีเข้ารับราชการเมื่อ 40 กว่าปีก่อนนี้ กระทรวงศึกษาธิการรับผิดชอบในการสอบบรรจุครูจากส่วนกลาง เวลาฟังผลสอบ ส่วนมากผู้จบการศึกษาใหม่ที่สอบบรรจุครูไว้ จะไปฟังผลที่กระทรวงศึกษาธิการด้วยตนเองเพื่อพบกับเพื่อนๆ ที่เรียนมาด้วยกัน และมาสอบด้วยกัน เพื่อดูว่าตัวเองบรรจุได้ที่ไหน บางคนสมหวัง บางคนผิดหวัง และเมื่อมีตำแหน่งว่างเหลืออยู่ เจ้าหน้าที่ผู้อาวุโสจะเดินมาเรียกน้องๆ ที่ผิดหวัง และประกาศเสียงดังๆ กับผู้ที่มาดูรายชื่อว่า... “ใครจะไปบรรจุที่ตำแหน่งนี้บ้าง มีน้องคนไหนอยู่จังหวัดนี้ โน้น นั้น บ้าง จะไปบรรจุไหม ถ้าจะไป..ให้มาแจ้ง...แล้วเอาหนังสือส่งตัวไปบรรจุทันที...”

ดูเหมือนง่าย เพราะสมัยนั้นคนจบปริญญามีน้อย ตำแหน่งว่างมีมากกว่า ส่วนมากอยู่ต่างจังหวัดในท้องที่ห่างไกลความเจริญ ไม่ค่อยมีคนอยากไป แต่ “ไม่มีการเรียกรับเงินหรือผลประโยชน์จากผู้ที่จะเข้าบรรจุเป็นข้าราชการครู” ข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการในยุคสมัยนั้นไม่มีค่านิยมการแสวงหาผลประโยชน์ จากน้องๆ ผู้จบใหม่ที่จะเข้ารับราชการเป็นครู มีแต่ความเมตตา และเข้าใจในหัวใจของความเป็นข้าราชการของกระทรวงศึกษาธิการเหมือนกัน บรรยากาศแบบนั้นไม่มีให้เห็นอีกแล้วในกระทรวงศึกษาธิการปัจจุบัน

แต่ ระยะต่อมาการโอนย้ายตำแหน่ง การเลื่อนตำแหน่ง และการบรรจุครู มีข่าวการเรียกรับผลประโยชน์ หรือที่เรียกว่า “ค่าตำแหน่ง” มากขึ้น เริ่มตั้งแต่ผู้ที่ต้องการโอนย้ายจากครูโรงเรียนมัธยมไปเป็นอาจารย์วิทยาลัย ครูในสมัยนั้นอาจต้องมีการจ่ายค่าโอนย้าย การเข้าสู่ตำแหน่งบริหารที่มีเกียรติ และสายงานที่มีค่าตอบแทนและผลประโยชน์อาจต้องมีการแลกด้วยเงิน และเมื่อมีการกระจายอำนาจการบริหารไปสู่พื้นที่การศึกษามากขึ้น การบรรจุแต่งตั้งอยู่ในอำนาจของเขตพื้นที่การศึกษาเป็นสำคัญ การเรียกรับผลประโยชน์จึงอาจเกิดขึ้นได้ในทุกเขตพื้นที่การศึกษา และทำให้ดูเหมือนว่า มีจำนวนการเรียกรับผลประโยชน์มากขึ้นตามจำนวนของเขตพื้นที่ทั่วประเทศ เนื่องจากข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการส่วนมากไม่มีฐานะร่ำรวย แต่การเข้าสู่ตำแหน่งเป็นความก้าวหน้าในอาชีพ การยอมเป็นหนี้เพื่อให้ก้าวหน้าในอาชีพ จึงเป็นภาวะที่ต้องเลือก และส่วนมากเลือกที่จะเป็นหนี้

ปัจจุบันตำแหน่ง “ครูผู้ช่วย” สำหรับผู้จบปริญญาตรีสายวิชาชีพครู สมมติว่ามีราคาที่ประมาณ 300,000 บาท สำหรับผู้ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อและต้องการบรรจุเป็น “ครูผู้ช่วย” ซึ่งอาจอยู่ในเขตพื้นที่การศึกษาเดียวกัน หรือการขอใช้บัญชีรายชื่อข้ามเขต สิ่งเหล่านี้คือ “หนี้ตั้งแต่เริ่มการเป็นครู” เพราะการหาเงินก้อนไปจ่ายเพื่อให้ได้เป็นข้าราชการครูนั้น ต้องกู้หรือยืมมา ด้วยการมีดอกเบี้ย เพราะส่วนมากแล้ว น้องๆ จบใหม่ไม่มีฐานะที่จะจ่ายเงินจำนวนมากได้โดยไม่เป็นหนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองต้องช่วยหามาให้ เพราะคุ้มค่ากับการลงทุนให้กับบุตรหลาน และเมื่อได้เป็นข้าราชการครูแล้วก็ใช้สิทธิและเครดิตของข้าราชการครูกู้เงินใช้หนี้คืนค่าตำแหน่ง จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ครูบางคนเป็นหนี้ตั้งแต่เริ่มต้นอาชีพครู

นอกจาก หนี้สินจากการเป็นครูดังกล่าวแล้ว อาจมีหนี้ซึ่งเกิดจากบุคลิกภาพและค่านิยมส่วนตัว เช่น เล่นการพนัน มั่วสุมอบายมุข เที่ยวกลางคืน ลุ่มหลงในวัตถุนิยม ใช้เงินเกินฐานะ เกินรายได้ซึ่งล้วนทำให้เกิดหนี้สินได้ทั้งสิ้น

สำหรับหนี้สินที่เกิดจากการซื้อบ้าน ที่ดิน พาหนะ เหล่านั้น ถ้าพิจารณาหนี้เหล่านี้แล้วถือว่าไม่น่าห่วงมากนัก เพราะ “หนี้สิน” ที่เกิดขึ้นนั้น นำไปสร้างเป็น “ทรัพย์สิน” ให้กับตนเองหรือครอบครัว การเป็นหนี้เงินกู้จากการซื้อบ้านและที่ดิน หรือรถยนต์ เป็นการเปิดโอกาสให้ข้าราชการครูได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และโครงการเงินกู้ให้กับครูเพื่อที่อยู่อาศัยและพาหนะจึงไม่ควรนำมาพิจารณาว่าเป็นการส่งเสริมให้ครูเป็นหนี้อย่างที่มีการโจมตีผ่านสื่อมวลชนในปัจจุบัน

การพัฒนาการศึกษาที่ผู้รับผิดชอบเชิงนโยบายในทุกระดับ จึงนำประเด็นการเป็นหนี้ของครูมารวมกับการพัฒนาการศึกษา เพราะครูเป็นบุคลากรที่สำคัญสำหรับการพัฒนาการศึกษาและขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ถ้าครูยังเป็นหนี้จำนวนมาก ครูที่เป็นหนี้เหล่านั้น คงไม่มีจิตใจทุ่มเทให้กับการพัฒนาการศึกษาของชาติได้

การพัฒนาการศึกษา และการแก้ปัญหาหนี้ครูที่สามารถทำได้ในเชิงนโยบายนั้น ประการแรกคือ ขจัดการซื้อ-ขายตำแหน่งให้หมดไป เพราะหนี้จากการซื้อตำแหน่งเป็นภัยอย่างใหญ่หลวง สำหรับปัญหาอื่น ๆ ที่ตามมาในระบบของการศึกษา เมื่อการเข้าสู่ตำแหน่งต้องมีการซื้อ-ขาย การแสวงหาประโยชน์ต่าง ๆ จากการมีตำแหน่งย่อมเกิดขึ้นได้ และที่สำคัญมาก และเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติ คือ ความสำนึกในการเป็นข้าราชการที่รับใช้พระราชา รับใช้ประชาชน และรับใช้แผ่นดินจะไม่เกิดขึ้น “ความรู้สึกว่าเป็นหนี้แผ่นดินที่ต้องทดแทนนั้น ถูกกลบด้วยความรู้สึกที่เป็นหนี้เงินมากกว่า” ทำให้ความพยายามในการสร้างสำนึกที่ดีงาม จึงไม่เกิดผลสำหรับคนที่เป็นหนี้เงินบางคน

ประการต่อมาคือ นอกจากการพยายามจะสร้าง “โรงเรียนในฝัน” ในลักษณะต่าง ทั้งการส่งเสริมการเรียนการสอนทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์พกพาแบบหน้าจอสัมผัส (Tablets) และการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพครู และค่าตอบแทนต่างๆ ที่ครูควรจะได้รับแล้ว ควรส่งเสริมและสนับสนุนให้มี “โรงเรียนครูไม่มีหนี้” ขึ้นบ้าง จะเป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับจุลภาค (Micro Level) และขยายตัวเป็นต้นแบบหรือโมเดลของโรงเรียนที่มีการพัฒนาการศึกษาแบบองค์รวม (Holistic) แต่ให้ความสำคัญกับพัฒนาการที่เกิดขึ้นในทุกภาคส่วนขององค์ประกอบ แต่ละส่วน (Atomistic)

การทำให้เกิด “โรงเรียนครูไม่มีหนี้” นั้น เป็นหลักการเชิงปรัชญาและอุดมคติ การดำเนินงานต้องระมัดระวังและไม่ใช่เป็นการทำให้ครูอยู่อย่างประหยัด จนไม่อยู่บนฐานของความจริงในสังคมปัจจุบัน แต่เป็นการเพิ่มรายได้ และหาทางให้ครูมีรายได้เพียงพอ หรือสูงกว่ามาตรฐาน จะเป็นการยกระดับวิชาชีพครูอีกทางหนึ่งด้วย

เมื่อครูไม่มีหนี้สิน ความตั้งใจในการทำงานย่อมมีมากขึ้น ความสามารถในการทุ่มเทพลังความสามารถของครูให้กับงานทางการศึกษาจะเกิดผลดีกับนักเรียน ที่จะเป็นพลเมืองของประเทศ และแน่นอนว่าระบบการศึกษาจะได้รับการพัฒนาจากรากฐานในระดับจุลภาค (Micro Level) ไปสู่ระดับมหภาค (Macro Level) และเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างต่อเนื่องด้วยตนเองต่อไป

รองศาสตราจารย์ ดร.กฤษมันต์ วัฒนาณรงค์


ที่มา - ไทยรัฐออนไลน์

ย้ำเจตนารมณ์ 'ครูสอนดี' ยกระดับคุณภาพครูเพื่อการเรียนรู้ของเด็กไทย

ย้ำเจตนารมณ์ 'ครูสอนดี' ยกระดับคุณภาพครูเพื่อการเรียนรู้ของเด็กไทย

สอนเป็น เห็นผล คนยกย่อง สังเกตเห็นได้ว่าครูท่านใดมีลักษณะ 3 ประการดังกล่าวจะถูกยกย่องให้เป็น “ครูสอนดี” ซึ่งขณะนี้โรงเรียน ท้องถิ่นและจังหวัดทั่วประเทศกำลังร่วมกันคัดสรรครูเพื่อร่วมกันยกย่องเชิด ชูครูสอนดีที่มีอยู่ในแทบทุกชุมชนทั่วประเทศ

“ครูสอนดี” ถือเป็นหนึ่งในโครงการโดย สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) โดยเป้าหมายในปี 2554 สังคมไทยจะได้รู้จักครูสอนดี 20,000 คน และเมื่อโครงการต่อเนื่องจนถึงปี 2556 สังคมไทยก็จะได้ร่วมกันเชิดชูครูสอนดี จำนวน 60,000 คน

จุดเริ่มต้นที่สำคัญของโครงการครูสอนดีเริ่มเมื่อปลายปี 2553 จากการระดมความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา และครูแท้ ๆ ผู้ร่วมปฏิรูปการศึกษามานับสิบปี ในเวทีของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่เห็นร่วมกันถึง “ทุกข์ของครู” ที่ต้องมุ่งสู่การทำวิทยฐานะ การให้น้ำหนักต่อการเรียนการสอนจึงลดลง

จึงนำไปสู่แนวคิด ’ครูสอนดี“ โดยแนวคิดคือ ลดการให้น้ำหนักกับการประเมินครูด้วยเอกสารผลงาน แต่ดูคุณภาพของครูผ่านคุณภาพการเรียนการสอน โดยข้อเสนอของ สศช. ได้รับความเห็นชอบจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2554 ภายใต้แผนปฏิบัติการปฏิรูปประเทศไทยเพื่ออนาคตคนไทยที่เท่าเทียมและเป็นธรรม

แนวคิดดังกล่าวยังคงมีอุปสรรคทางเทคนิควิธีอยู่บ้าง ประเด็นสำคัญคือคุณภาพการสอนของครูต่างสังคมต่างบริบทย่อมมีความแตกต่างกัน การวัดผลการสอนจึงไม่สามารถใช้มาตรฐานเดียวกันมาวัดได้ ทางออกคือผลการสอนควรดูจากคนใกล้ตัวครูมากที่สุด และอยู่ในชุมชนท้องถิ่นเดียวกันกับตัวครูนั่นเอง

แนวคิด “ครูสอนดี” จึงมาจากผู้ที่มีประสบการณ์การเป็นครูมาตลอดชีวิต เพื่อให้ครูได้หันมาให้เวลากับคุณภาพการสอน แทนการทำผลงานทางเอกสาร

นคร ตังคะพิภพ อดีตผู้บริหารสถานศึกษา เชี่ยวชาญพิเศษ หรือครูซี 10 คนแรกของประเทศ ที่ผ่านระบบการประเมินระดับสูงสุดมาแล้ว ก็ยังเห็นว่ามีจุดอ่อนของการประเมิน ครูนครจึงได้เสนอแนวคิดโครงการ “ครูสอนดี” โดยเน้นที่การ “สอนเป็น เห็นผล คนยกย่อง”

“เจตนารมณ์ของโครงการครูสอนดี มีที่มาจากการจัดเวทีแลกเปลี่ยนของสศช.โดยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์หลาก หลายวิชาชีพมาระดมสมอง สำรวจปัญหาที่ทำให้คุณภาพการศึกษาเด็กไทยตกต่ำจนอยู่ในขั้นวิกฤติมากเมื่อ เปรียบเทียบกับนานาประเทศในโลก” ครูนครเล่าถึงที่มา

“ที่ประชุมจึงสรุปว่าสาเหตุของคุณภาพการศึกษาของเด็กไทยมีหลายสาเหตุ แต่สาเหตุสำคัญอยู่ที่คุณภาพครู ซึ่งผมในฐานะที่อยู่ในวงการครูมานานก็เห็นปัญหานั้นและเชื่อว่าถ้าคุณภาพครู จะดีขึ้นต้องสนับสนุนส่งเสริมให้ค้นหาครูสอนดีที่แท้จริงให้ได้ เพื่อยกย่องเป็นตัวอย่าง จากนั้นจึงเกิดหลักเกณฑ์สรรหาครูสอนดีที่ว่า สอนเป็น เห็นผล คนยกย่อง และกำหนดแนวทางคัดสรรโดยไม่เน้นการสร้างเอกสารหลักฐาน แต่ใช้ภาคีบุคคลหลายฝ่ายเป็นผู้กลั่นกรองในทุกท้องถิ่นทั่วประเทศ”

“ผมคิดว่าในโครงการคัดเลือก “ครูสอนดี” ที่เริ่มมาแล้ว 3 เดือนเศษนั้น ถ้าทุกฝ่ายทำตามเจตนารมณ์โดยไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง และทำอย่างต่อเนื่องสัก 3 ปีเป็นอย่างน้อย ก็จะมีคุณครูที่ทำงานเพื่อศิษย์ที่ไม่เน้นไปกับการผลิตเอกสารทางวิชาการ มีความภาคภูมิใจในอาชีพเกิดขึ้นทั่วไป คุณครูจำนวนนี้ก็จะมีกำลังใจทำหน้าที่ครูอยู่กับลูกศิษย์อย่างทุ่มเทเสียสละ ไม่ท้อแท้ท้อถอย แล้วจะส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาไทยดีขึ้นได้แน่นอน”

สิ่งสำคัญของการเฟ้นหาครูสอนดี คือ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันคัดเลือกเชิดชูครูสอนดี ผ่านการทำงานรูปแบบใหม่ ที่เปิดให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมด้านการศึกษา ในรูปแบบของ “คณะกรรมการเพื่อการคัดเลือกครูสอนดีและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” ใน 2 ระดับ คือ ระดับท้องถิ่น ทำหน้าที่เฟ้นหาครูสอนดีในระดับเขต เทศบาล/อบต. และ ระดับจังหวัด ในการนี้ด่านแรกคือโรงเรียน โดยผู้บริหารจะต้องจัดหารือกับ 4 ฝ่ายคือ นักเรียน ผู้ปกครอง เพื่อนครู และผู้บริหาร มิใช่ผู้อำนวยการโรงเรียนคัดเลือกเอาตามดุลพินิจของตนเองเท่านั้น

กระบวนการดังกล่าวเปิดโอกาสให้ครูสอนดีเป็นคนของชุมชน ทุกคนในชุมชนเห็นคุณค่าและร่วมกันเชิดชู มิใช่ครูที่ลูกศิษย์และชาวบ้านเอื้อมไม่ถึงอีกต่อไป

ในการขับเคลื่อนงานในปีแรกนี้ สสค.ยังประสบปัญหาอุปสรรคในบางพื้นที่ แต่ก็ได้รับความร่วมมือจากเครือข่าย ’ครูวุฒิอาสา“ ที่มีศรัทธาต่อโครงการ จึงอาสาเดินสายไปทั่วทุกจังหวัดเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจโครงการให้กับคณะ กรรมการคัดเลือกครูสอนดีระดับจังหวัดและท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถานศึกษาทั่วประเทศ

เพื่อร่วมกันยกย่อง “ครูสอนดี” ที่มุ่งสู่คุณภาพการสอนแก่เยาวชนไทย.



ที่มา - เดลินิวส์ออนไลน์

ถึงเวลา สกสค.ปฏิรูปสวัสดิการเพื่อครู

ถึงเวลา สกสค.ปฏิรูปสวัสดิการเพื่อครู

ไม่ว่าหน่วยงานหรือองค์กรใดก็ตามเรื่องของสวัสดิการและสวัสดิภาพบุคลากรถือ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่จะบำรุงขวัญบุคลากรในหน่วย งานนั้น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการ ศึกษา(สกสค.)ซึ่งมีหน้าที่หลักในการดูแลเกี่ยวกับสวัสดิการและสวัสดิภาพของ ครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ ทั้งเรื่องของรายได้ ปัญหาหนี้สิน ที่พัก ความเป็นอยู่อย่างการจัดให้บริการหอพักครู นั่นหมายถึงครูและบุคลากรทางการศึกษานับล้านคนย่อมมีสิทธิที่จะได้รับ ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้

เมื่อหน่วยงานที่ดูแลเรื่องสวัสดิการและสวัสดิภาพครูทำงานและให้บริการที่ดี แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาย่อมได้รับการชื่นชมยินดี แต่ที่ผ่านมาถึงแม้ สกสค.จะต้องทำงานอย่างหนักเกี่ยวกับสารพัดปัญหาของครูและบุคลากร และผลงานที่ออกมาก็ได้รับทั้งคำชมและคำตำหนิ ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องธรรมดาของการทำงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับผู้คนจำนวนมาก เรื่องนี้ทาง สกสค.เองก็ยอมรับและพยายามแก้ไขจุดบกพร่องด้วยตั้งใจให้ครูได้รับประโยชน์ สูงสุดจากการทำงานของ สกสค.

ที่ว่ามาคือความมุ่งมั่นของ สกสค. ที่จะทำงานเพื่อครู จึงเป็นที่มาของการเดินทางไปศึกษาดูงานด้านสวัสดิการและสวัสดิภาพครูของ ประเทศในยุโรปที่สหพันธรัฐเยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

เรื่องของอาชีพครูในเยอรมนี เท่าที่ฟังจาก นายเคล้าส์ เบรคเทอร์ นายกเทศมนตรีเมืองบาดวิมพ์เฟน ซึ่งเป็นเมืองเก่าแห่งหนึ่งของเยอรมนี ทราบว่า เป็นอาชีพที่มีปัญหาค่อนข้างน้อย โดยเป็นอาชีพที่มีเกียรติและศักดิ์ศรีมาก เป็นข้าราชการกลุ่มหนึ่งที่มีรายได้ค่อนข้างสูงรองจากหมอ ครูประถมจะมีเงินเดือนประมาณ 2,000 ยูโร หรือ เกือบ 1 แสนบาท และถ้าเป็นระดับมหาวิทยาลัยก็มากขึ้น ส่วนสวัสดิการ ค่ารักษาพยาบาล รัฐจะช่วยจ่ายให้ครึ่งหนึ่ง ถ้ามีลูกก็จะได้เพิ่มเป็น 70% ส่วนเรื่องหนี้สินต้องบอกว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคลแต่โดยภาพรวมครูเขาจะไม่มี ปัญหามากมายเหมือนบ้านเรา เพราะเขาบอกว่าเงินเดือนที่เขาได้รับถ้าใช้จ่ายและกินอยู่อย่างปกติธรรมดา ไม่เดือดร้อนเลย

สำหรับเรื่องงานโรงแรมและการบริการได้ไปเห็นที่ IMI หรือ International Hotel Management Institute Switzerland ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาเอกชนที่สอนด้านการโรงแรมที่มีชื่อเสียงอันดับต้น ๆ ของประเทศ IMI ตั้งอยู่ที่เมืองลูเซิร์น ซึ่งเป็นเมืองที่ได้ชื่อว่าเมืองแห่งการศึกษา มีสถาบันการศึกษามากมาย และมีนักศึกษาจากทั่วโลกเข้ามาอยู่ที่เมืองนี้เป็นจำนวนมาก สถาบัน IMI ถือว่าเป็นสถาบันที่จัดการเรียนการสอนด้านการโรงแรมและบริการเป็นอันดับ 1 ของโลก มีนักศึกษาจบออกไปแล้วประมาณ 5,000 คน โดย 74% ของนักศึกษาที่จบออกไปจะได้รับการโปรโมตเป็นระดับผู้บริหารภายในเวลา 5 ปี ซึ่งเขารู้สึกภูมิใจมากกับความสำเร็จนั้น สำหรับค่าเทอมต้องยอมรับว่าแพงมาก ๆ เพราะเฉลี่ยแล้วตกประมาณภาคเรียนละ 1 ล้านบาท ปีหนึ่งมี 3 ภาคเรียน (ไม่อยากจะคิดว่าเรียนจบแล้วเป็นเงินเท่าไหร่) ปัจจุบันที่ IMI มีนักศึกษาอยู่ประมาณ 500 คน จาก 78 ประเทศทั่วโลก ในจำนวนนี้มีนักเรียนไทย 6 คน

อภิชญา คมสัน หรือ น้องพีช วัย 20 ปี เด็กไทยที่ข้ามน้ำข้ามทะเลไปเรียนด้านการโรงแรมที่ IMI เล่าว่า อาชีพบริการเป็นงานที่หนักมาก การมาเรียนที่นี่ต้องลงมือทำทุกอย่าง ค่าเทอมแพงแต่ไม่ได้อยู่อย่างสุขสบายแต่ก็มีความสุข เชื่อว่าสาขาที่เลือกเรียนยังไปได้อีกไกลเพราะงานโรงแรมและการจัดกิจกรรม ต่าง ๆ ยังต้องมีต่อไปเพียงแต่เราต้องสู้กันด้วยแนวคิดใหม่ ๆ และการบริการที่ดี สำหรับประเทศไทยคิดว่าถ้ามีสถาบันที่จัดการเรียนการสอนด้านการบริการอย่าง จริงจังได้ก็น่าจะดี เพราะเรื่องนี้เป็นเสน่ห์ของการทำธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จได้

ภายหลังการเดินทาง นายบำเหน็จ ทิพย์อักษร รองเลขาธิการ สกสค. ระบุว่า การศึกษาดูงานครั้งนี้พอจะเห็นถึงความแตกต่างที่ชัดเจนในเรื่องของรายได้ของ ครูและบุคลากรทางการศึกษาของไทยกับประเทศในยุโรป เพราะอาชีพครูในยุโรปจะมีรายได้ค่อนข้างสูง อีกทั้งเป็นอาชีพที่มีเกียรติและมีศักดิ์ศรีรองจากอาชีพแพทย์ โดยรัฐจะเข้ามาดูแลเรื่องสวัสดิการของครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันก็มีสหภาพครูที่เข้ามามีบทบาทในการต่อรองเงินเดือนและสวัสดิการ ให้ครู ทำให้มีความมั่นคงในอาชีพได้รับการยอมรับของสังคม ที่สำคัญไม่มีปัญหาหนี้สิน เนื่องจากมีรายได้ที่สูงพอ ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องนำกลับมาคิด

“ผมมองว่าการแก้ปัญหาหนี้สินที่ถูกทาง คือ แก้ที่จุดเริ่มต้น รายได้ครูต้องมีมากกว่ารายจ่าย ซึ่งหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งคงไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด ดังนั้นทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งคุรุสภา สกสค. และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) รวมถึงองค์กรครูต้องมาหารือร่วมกัน เพื่อกำหนดแนวทางที่จะทำให้ครูมีรายได้มากกว่ารายจ่าย และ สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนจากการศึกษาดูงาน คือแนวคิดของคนในยุโรปที่เน้นการพึ่งพาตนเอง ซึ่งสอดคล้องกับแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมถึงเรื่องการใช้จ่ายอย่างมีวินัยซึ่งทำให้ไม่เป็นหนี้ ฉะนั้นผมคิดว่าถึงเวลาที่ประเทศไทยจะต้องกลับมาส่งเสริมเรื่องการพึ่งพาตน เองและความมีวินัยของครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างจริงจัง”

ส่วนเรื่องของ หอพักครู ซึ่งเป็นอีกงานหนึ่งของ สกสค.ที่จัดให้บริการครูและบุคลากรทางการศึกษานั้น นายบำเหน็จ มองว่า ปัจจุบัน สกสค.ยังทำได้ไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร การได้มาเห็นกิจการโรงแรมของคนไทยที่อยู่ในเยอรมนีทำให้เห็นแนวคิดว่า การที่เจ้าของโรงแรมที่เป็นคนไทยธรรมดาไม่มีพื้นฐานการจัดการ อย่าง พี่แพม สมพงษ์ แพม ไพเคิล ซึ่งเป็นชาวศรีสะเกษ แต่สามารถบริหารกิจการในต่างประเทศได้เป็นอย่างดีและประสบความสำเร็จ ขณะที่ สกสค.ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำเกี่ยวกับสวัสดิการโรงแรมที่พักให้กับครูมายาว นานแต่กลับทำได้ไม่ดี โดยเฉพาะเรื่องการบริการและความสะอาดที่ สกสค.ต้องกลับมาปรับปรุงเป็นการใหญ่ โดยรวมถึงการตกแต่งภายในห้องพักที่จะต้องทำให้ดีขึ้นด้วย เนื่องจาก สกสค.มีแนวคิดที่จะพัฒนาและขยายกิจการหอพักครู หรือ โรงแรมไป 4 ภูมิภาค เพราะฉะนั้นเราจึงต้องทำให้ได้อย่างมืออาชีพ

“เรื่องจิตบริการของพนักงาน ความสะอาด และการดูแลเอาใจใส่ลูกค้าของผู้บริหาร รวมถึงการตกแต่งภายในให้ดูสวยงามน่าพัก และมีความเป็นมืออาชีพ โดยเฉพาะแนวคิดการนำวัสดุตกแต่งที่มีอยู่ในพื้นที่อย่างคราด พลั่ว คันไถ หรือวัสดุที่มีอยู่แล้วมาใช้ประโยชน์ซึ่งเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างต่ำ แต่ดูดี และมีความสวยงาม ซึ่งเป็นแนวคิดที่น่าสนใจและผมจะนำกลับมาปรับปรุงงานของ สกสค.ให้ดีขึ้น” รองเลขาธิการ สกสค.ย้ำ

จากการดูงานครั้งนี้ยังได้ทำให้เห็นอีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจและน่าจะนำกลับมา ปรับใช้กับบ้านเรา คือ ประเทศในยุโรปรัฐบาลเขาจะให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษา รัฐจะสนับสนุนให้เรียนถึงระดับหนึ่งที่เรียกว่าเป็นการศึกษาพื้นฐานอย่าง เต็มที่ แต่เมื่อถึงระดับมหาวิทยาลัยก็จะเป็นความรับผิดชอบของแต่ละคน อย่างที่สวิตเซอร์แลนด์เมื่อเข้ามหาวิทยาลัยรัฐจะมีกองทุนให้กู้ยืมเรียนโดย ไม่คิดดอกเบี้ยจนกว่าจะมีงานทำจึงทำให้มีคนจบการศึกษาระดับปริญญาไม่มากนัก เพราะฉะนั้นเมื่อเรียนจบขั้นพื้นฐานส่วนใหญ่ก็จะหางานทำกัน ที่เป็นอย่างนี้เพราะเขามีนโยบายในการสอนคนที่ความชัดเจนว่า จะมีชีวิตที่ดีขึ้นถ้าทำงาน ไม่มีอะไรได้มาฟรี ๆ เด็กสวิตเซอร์แลนด์บางคนไม่มีเงินจะเรียนก็ต้องดิ้นรนขวนขวายด้วยตัวเอง ไม่รอแต่ให้คนอื่นยื่นมือเข้ามาช่วย...น่าสนใจจริง ๆ.

อรนุช วานิชทวีวัฒน์

ที่มา
http://www.kruthai.info/2012/board02_/shows.php?Category=vipak&No=40

แผนปฏิบัติราชการสี่ปี (พ.ศ.2555-2558) ของ สพฐ.

แผนปฏิบัติราชการสี่ปี (พ.ศ.2555-2558) ของ สพฐ.


อ่านรายละเอียดทั้งหมด คลิก

http://www.obec.go.th/node/13751

รูปแบบข้อสอบ O-NET ป.6 , ม.3 และ ม.6 ปีการศึกษา 2554

รูปแบบข้อสอบ O-NET ป.6 , ม.3 และ ม.6 ปีการศึกษา 2554

ก.พ.อ.ยึดหลักปรับเงินเดือนหมื่นห้า พนักงานมหาวิทยาลัยต้องได้ด้วย

ก.พ.อ.ยึดหลักปรับเงินเดือนหมื่นห้า พนักงานมหาวิทยาลัยต้องได้ด้วย

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ที่ประชุมได้เห็นชอบร่างประกาศ ก.พ.อ. เรื่องมาตรฐานการกำหนดระดับตำแหน่งและการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้น (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 โดยกำหนดให้การแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้น วิธีปกติ ผู้ได้รับการแต่งตั้งต้องมีคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งตรงตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และได้รับเงินเดือนไม่ต่ำกว่าขั้นต่ำของระดับที่จะแต่งตั้ง เพื่อเป็นการลดความเหลื่อมล้ำในเรื่องโอกาสความก้าวหน้าระหว่างข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษากับข้าราชการพลเรือนสามัญ

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ส่วนความคืบหน้าร่างบัญชีเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูงของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษานั้น สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้ข้อเสนอมาเป็น 2 บัญชี ที่ประชุมจึงขอให้รอดูบัญชีเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูงของข้าราชการพลเรือนก่อนจึงจะเสนอกลับมาให้ ก.พ.อ.พิจารณาอีกครั้ง พร้อมกันนี้ที่ประชุมยังได้เห็นชอบในหลักการกรณีการปรับเงินเดือนขั้นต่ำของข้าราชการเป็น 15,000 บาท ว่า หากมีการประกาศปรับบัญชีเงินเดือนข้าราชการก็ขอให้ปรับเงินเดือนให้แก่พนักงานมหาวิทยาลัยด้วย ทั้งในส่วนของพนักงานที่รับเงินเดือนจากงบประมาณแผ่นดิน และพนักงานที่ใช้เงินรายได้ของมหาวิทยาลัย

นายวรวัจน์ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบการกำหนดสายงานวิชาการรับใช้สังคม เพื่อเข้ามาช่วยแก้ไข ฟื้นฟู เยียวยา ประเทศภายหลังน้ำลด โดยจะดึงนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ในด้านต่าง ๆ มาศึกษากระบวนการให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งการให้บริการสังคม ซึ่งได้มอบหมายให้ นายถนอม อินทรกำเนิด ผู้ทรงคุณวุฒิ ก.พ.อ. ทำการศึกษาและยกร่างระเบียบการกำหนดตำแหน่งสายงานวิชาการรับใช้สังคม เพิ่มขึ้นอีก 1 ตำแหน่ง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ม.ค. 2555 ทั้งนี้จะเชิญนักวิชาการประมาณ 1,000 คนให้นำผลงานวิจัยมาร่วมกันฟื้นฟูประเทศ ซึ่งคนกลุ่มดังกล่าวจะได้รับโอกาสในการทำผลงานสายงานวิชาการรับใช้สังคม นอกจากนี้ยังได้คัดเลือกคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา แทนผู้ที่ครบวาระการดำรงตำแหน่ง จำนวน 8 ราย ดังนี้ นายเปรื่อง กิจรัตน์ภร อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.)พระนคร นายสว่าง ภู่พัฒน์วิบูลย์ อธิการบดี มรภ.พิบูลสงคราม นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหาร ศาสตร์ นายนิตย์ คำธนนันทิกุล มรภ.ชัยภูมิ นายอชิตพล ศศิธรานุวัฒน์ มรภ.อุตรดิตถ์.



ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

ศธ.เลื่อนสอบ O-NET ป.6 และ ม.3 เป็นกลางเดือน ก.พ.55

ศธ.เลื่อนสอบ O-NET ป.6 และ ม.3 เป็นกลางเดือน ก.พ.55

ส่วน ม.6 ยังใช้ปฏิทินเดิม 18-19ก.พ. คาด สพฐ.อาจต้องขยับปฏิทินรับนักเรียน ปี 55 ออกไปเพื่อรอผล O-NET ด้วยเช่นกัน ด้าน สทศ.ขยายเวลาชำระเงินสอบ 7 วิชาสามัญจนถึง 22 พ.ย.นี้ "วรวัจน์" จัดทีมช่างอาชีวะบริการซ่อมแซมบ้าน รถยนต์ เครื่องไฟฟ้าฟรี! แจ้งความประสงค์ที่ ว.เทคนิค ใกล้บ้าน

วันที่ 17 พ.ย.54 นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากมหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นส่งกระทบในหลายจังหวัด โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทำให้ต้องมีการประกาศเลื่อนการเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2554 ออกไปหลายครั้ง ซึ่งล่าสุดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ประกาศเลื่อนเปิดภาคเรียนเป็นวันที่ 6 ธ.ค.54 และยังส่งผลให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ต้องหารือร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และประธานแอดมิสชั่นส์ฟอรั่ม เพื่อพิจารณาเลื่อนวันสอบแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ให้สอดคล้องกับการเปิดภาคเรียนที่ 2

โดยที่ประชุมมีมติให้เลื่อนการสอบ O-NET ของนักเรียนชั้น ป.6 จากเดิมวันที่ 1 ก.พ.55 เป็นวันที่ 15 ก.พ.55

ชั้น ม.3 จากเดิมวันที่ 2-3 ก.พ.55 เป็นวันที่ 16-17 ก.พ.55 โดยจะประกาศผลการสอบทั้ง 2 ระดับชั้นในวันที่ 31 มี.ค.55

ส่วนการสอบ O-NET ในระดับชั้น ม.6 ยังคงให้เป็นไปตามกำหนดการเดิมคือวันที่ 18-19 ก.พ.55 และประกาศผลสอบในวันที่ 10 เม.ย.55 อย่างไรก็ตาม มติการเลื่อนสอบ O-NET นี้จะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร สทศ. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบโดยเร็ว

ด้านนายสัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการ สทศ. กล่าวว่า ในวันที่ 23 พ.ย.นี้ จะนำมติดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร สทศ. เพื่อพิจารณาเห็นชอบ แต่หากมีมติเห็นชอบตามที่เสนอ คาดว่าทาง สพฐ.ก็อาจจะต้องขยับปฏิทินการรับนักเรียนชั้น ม.1 และ ม.4 ในโรงเรียนสังกัด สพฐ.ประจำปีการศึกษา 2555 ออกไป เพื่อให้โรงเรียนสามารถนำผลการสอบ O-NET ไปใช้ในการเข้าเรียนต่อได้ทัน

ทั้งนี้ สาเหตุที่ตัดสินใจเลื่อนการสอบO-NET ชั้น ป.6 และ ม.3 ออกไป เพราะเห็นว่าระดับชั้นดังกล่าว ยังมีเนื้อหาคงเหลือที่ต้องเรียนในภาคเรียนที่ 2 อีกจำนวนมาก และเพื่อให้นักเรียนได้มีเวลาทบทวนก่อนเข้าสอบ จึงจำเป็นต้องเลื่อนการสอบออกไปก่อน ส่วนสาเหตุที่ไม่เลื่อนการสอบในระดับชั้น ม.6 นั้น เนื่องจากกำหนดการสอบอยู่ในช่วงปลายเดือน ก.พ.อยู่แล้ว และคิดว่าโรงเรียนจะจัดการเรียนการสอนได้ครบตามหลักสูตร จึงไม่น่าจะมีปัญหา

"เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมยังไม่คลี่คลาย สทศ.จึงได้ขยายเวลาการรับสมัครสอบและชำระเงินวิชาสามัญ 7 วิชา ออกไปอีก เป็นวันที่ 17-22 พ.ย.54 เวลา 09.00-23.59 น. และชำระเงิน ตั้งแต่วันที่ 18-23 พ.ย.54 เวลา 09.00-20.00 น.โดยนักเรียนสามารถชำระเงินได้ที่เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทย ไทยพาณิชย์ และเคาน์เตอร์เซอร์วิส" นายสัมพันธ์ กล่าว

วันเดียวกันนี้ นายวรวัจน์ ยังเปิดเผยถึงมาตรการให้ความช่วยเหลือสถานศึกษา ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยว่า ว่า ศธ.จะกระจายงบประมาณกลาง ที่ได้รับอนุมัติประมาณ 900 กว่าล้านบาท ไปยังสถานศึกษาทุกสังกัด ที่สถานการณ์น้ำเริ่มลดลงแล้ว เพื่อฟื้นฟู และซ่อมแซม ให้สามารถกลับมาเปิดการเรียนการสอนได้ตามปกติ โดยเบื้องต้นได้มอบให้ สอศ. และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เข้ามาช่วยเหลือฟื้นฟูและซ่อมแซมสถานศึกษา ส่วนหนังสือเรียนที่ชำรุดเสียหายนั้น ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะเมื่อสถานศึกษาได้รับการจัดสรรงบฯ แล้ว จะสามารถจัดซื้อหนังสือเรียนทดแทนได้ทันที ขณะที่ชุดนักเรียนที่เสียหาย คาดว่าจะแจกชดเชยให้เด็กอย่างน้อย คนละ 2 ชุด แต่หากเปิดภาคเรียนแล้วและเด็กยังไม่ได้รับชุดนักเรียน ก็จะผ่อนผันให้เด็กสามารถใส่ชุดลำลองไปเรียนก่อนได้

"ขณะนี้ ศธ.ได้เตรียมช่างไม้ ช่างปูน ช่างทาสี ช่างยนต์ และช่างไฟ ซึ่งเป็นนักเรียนอาชีวศึกษา เพื่อที่จะลงไปซ่อมแซมบ้านเรือน รถยนต์ และอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ได้รับความเสียหายให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบแล้ว ซึ่งใครที่ต้องการให้เข้าไปช่วยเหลือ สามารถแจ้งมาได้ที่วิทยาลัยเทคนิคของทุกจังหวัด เพื่อที่จะได้มีการจัดส่งนักเรียนลงไปซ่อมแซมต่อไป โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้การซ่อมแซมดังกล่าวนอกจากนักเรียนอาชีวศึกษาจะได้ทำงานจิตอาสาแล้ว ยังเป็นการให้นักเรียนใช้เวลาของการเรียนไปฝึกปฏิบัติจริงด้วย" นายวรวัจน์ กล่าว


ที่มา - สยามรัฐออนไลน์
http://www.siamrath.co.th/web/?q=ศธเลื่อนสอบ-o-net-ป6-และ-ม3-เป็นกลางเดือน-กพ5

สพฐ.เปิดให้ครูย้ายคืนถิ่น ดีเดย์ปิดรับคำขอสิ้นปี 54

สพฐ.เปิดให้ครูย้ายคืนถิ่น ดีเดย์ปิดรับคำขอสิ้นปี 54

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของ ศธ. เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงการดำเนินโครงการครูคืนถิ่น เพื่อให้ครูที่จากบ้านมานานได้ย้ายกลับไปอยู่ในภูมิลำเนาของตนเอง ซึ่งตนได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทำการสำรวจจำนวนครูทั้งหมดที่จะขอย้าย โดยดูว่าจะย้ายกลับในพื้นที่ใดและในสาขาวิชาใดบ้าง จะสามารถหมุนเวียนครูมาทดแทนได้มากน้อยแค่ไหน จะส่งผลให้ขาดแคลนครูผู้สอนในสาขาวิชาใด และจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ซึ่ง สพฐ.จะเปิดให้ครูที่มีความประสงค์ขอย้ายแจ้งความจำนงได้ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ที่ตนสังกัดได้ตั้งแต่บัดนี้ เพื่อ สพฐ.จะได้รวบรวมและนำข้อมูลมาวิเคราะห์ต่อไป ทั้งนี้ ภายในสิ้นปีนี้หากครูไม่แจ้งความจำนงขอย้าย ก็จะไม่มีสิทธิได้เข้าร่วมโครงการฯ

รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ตนได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ให้ความเห็นชอบงบประมาณในการฟื้นฟูเยียวยาหน่วยงานและสถานศึกษา ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย รวม 790 แห่ง เป็นงบฯ ทั้งสิ้น 956.29 ล้านบาท ซึ่ง ศธ.จะเร่งฟื้นฟูสถานศึกษาและครุภัณฑ์สื่อการเรียนการสอนต่อไป.


ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

มติ กพฐ.เริ่มใช้ O-NET ร้อยละ 20 รับนักเรียน ม.1 และ ม.4 ปี 55

มติ กพฐ.เริ่มใช้ O-NET ร้อยละ 20 รับนักเรียน ม.1 และ ม.4 ปี 55

ย้ำนโยบายห้ามบริจาคแลกที่เรียน

วันที่ 17 พ.ย.54 นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบนโยบายและแนวทางการรับนักเรียน ม.1 และ ม.4 ปีการศึกษา 2555 ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งยังคงหลักเกณฑ์เหมือนกับปีที่ผ่านมา โดยเน้นย้ำนโยบายสนับสนุนให้โรงเรียน มีการระดมทรัพยากรจากเด็กที่ได้เข้าเรียนแล้ว แต่ไม่ให้รับเงินบริจาคโดยไม่มีเงื่อนไขผูกพันกับการเข้าเรียน

อย่างไรก็ตาม จะเป็นปีแรกที่เริ่มนำคะแนนแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ร้อยละ20 เข้ามาพิจารณาร่วมกับคะแนนสอบคัดเลือกของโรงเรียน อีกร้อยละ 80

"ทั้งนี้จะมี 9 โรงเรียน ที่มีการแข่งขันอย่างเข้มข้น จะใช้คะแนนสอบคัดเลือกไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ส่วนคะแนน O-NET จะใช้ไม่เกินร้อยละ 20 ประกอบด้วย รร.เตรียมอุดมศึกษา กทม. รร.เตรียมอุดมศึกษา จ.นครศรีธรรมราช รร.เตรียมอุดมศึกษา จ.พิษณุโลก รร.เตรียมอุดมศึกษา จ.สกลนคร รร.เตรียมอุดมศึกษาเปร็งวิสุทธาธิบดี จ.ฉะเชิงเทรา รร.พิบูลวิทยาลัย จ.ลพบุรี รร.น่านประชาอุทิศ จ.น่าน รร.อุดรพัฒนาการ จ.อุดรธานี และรร.ศรีธวัชวิทยาลัย จ.ร้อยเอ็ด" เลขาธิการ กพฐ.กล่าว


ที่มา - สยามรัฐออนไลน์
http://www.siamrath.co.th/web/?q=มติ-กพฐเริ่มใช้-o-net-ร้อยละ-20-รับนักเรียน-ม1-และ-ม4-ปี-55

ชมรมครูฯ จัดอบรมการใช้อินเทอร์เน็ต ฟรี!

ชมรมครูฯ จัดอบรมการใช้อินเทอร์เน็ต ฟรี!

ด้วยชมรมครูและบุคลากรทางการศึกษาออนไลน์แห่งประเทศไทย (ชคบท.) เป็นชมรมที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของครูและบุคลากรทางการศึกษาผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทางเว็บไซต์ www.kruthai.info มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 จะดำเนินการอบรมเชิงปฏิบัติการการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนการสอน ให้กับผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา จำนวน 40 คน เพื่อให้สามารถนำข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตมาใช้ประกอบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้ โดยกำหนดจัดอบรมในวันอาทิตย์ที่ 4 ธันวาคม 2554 ณ ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ วิทยาลัยสารพัดช่างสกลนคร ฟรี! เอกสารประกอบการอบรม อาหารกลางวัน อาหารว่างเช้า-บ่าย และผู้ผ่านการอบรมจะได้รับเกียรติบัตร จากทางชมรมฯ ที่ออกร่วมกับวิทยาลัยสารพัดช่างสกลนคร

ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาท่านใดที่สนใจจะสมัครเข้ารับการอบรม ให้แจ้งความประสงค์สมัครทางอีเมล์ webmaster@kruthai.info โดยแจ้งข้อมูลดังนี้

1. ชื่อ – สกุล

2. ตำแหน่ง

3. ที่ทำงาน

4. หมายเลขโทรศัพท์มือถือ

และทางชมรมฯ จะประกาศรายชื่อผู้เข้าอบรม ภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2554 ทางเว็บไซต์ครูไทย www.kruthai.info

จึงแจ้งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ทราบ


ชมรมครูและบุคลากรทางการศึกษาออนไลน์แห่งประเทศไทย (ชคบท.)
***สอบถามรายละเอียด โทร. 085-759-4866

ข้อควรทราบ

1. เนื้อหาการอบรมเป็นการใช้งานอินเทอร์เน็ตพื้นฐาน ซึ่งทางชมรมฯ ได้จัดอบรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตพื้นฐาน มาแล้ว 2 ครั้ง คือในปี 2552 และ ปี 2553

2. สงวนสิทธิสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาที่เข้าอบรมแล้วเมื่อปี 2552 และ ปี 2553

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------


กำหนดการอบรมเชิงปฏิบัติการการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนการสอน
วันอาทิตย์ที่ 4 ธันวาคม 2554 ณ วิทยาลัยสารพัดช่างสกลนคร
จัดโดย ชมรมครูและบุคลากรทางการศึกษาออนไลน์แห่งประเทศไทย (ชคบท.)
-------------------------------------------

08.00 - 08.30 น. ลงทะเบียน รับเอกสารประกอบการอบรม
08.30 - 09.00 น. - กล่าวต้อนรับ แนะนำสถานที่ โดย ผู้อำนวยการวิทยาลัยสารพัดช่างสกลนคร
- แจ้งข่าวสาร ความเคลื่อนไหวทางการศึกษา โดย นายอุเทน ทองสวัสดิ์ ประธานชมรมครูและ
บุคลากรทางการศึกษาออนไลน์แห่งประเทศไทย (ชคบท.)
09.00 - 10.30 น. การใช้งานจดหมายอิเล็กทรอนิกส์
10.30 - 10.45 น. พักรับประทานอาหารว่าง
10.45 - 12.00 น. การสืบค้นข้อมูลประกอบการเรียนการสอน
12.00 - 12.45 น. พักรับประทานอาหารกลางวัน
12.45 - 14.15 น. การจัดทำชิ้นงานประกอบการสอน
14.15 - 14.30 น. พักรับประทานอาหารว่าง
14.30 - 16.00 น. การจัดทำชิ้นงานประกอบการสอน
16.00 - 16.30 น. อภิปราย ซักถาม มอบเกียรติบัตร และปิดการอบรม

หมายเหตุ กำหนดการอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม

หารือคุณสมบัติเพื่อขอเลื่อนวิทยฐานะ

หารือคุณสมบัติเพื่อขอเลื่อนวิทยฐานะ

เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2554 นายอุเทน ทองสวัสดิ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านดอนแดง สพป.สกลนคร เขต 3 ได้เปิดเผยกับเว็บไซต์ครูไทยว่า ตนได้ทำหนังสือหารือไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสกลนคร เขต 3 เกี่ยวกับเรื่อง หารือคุณสมบัติผู้ขอเลื่อนเป็นวิทยฐานะผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ เนื่องจากที่ผ่านมามีการพูดคุยสนทนาในกลุ่มผู้ที่จะขอเลื่อนวิทยฐานะ ในประเด็น “การปฏิบัติงานตามหน้าที่ความรับผิดชอบด้านการบริหาร และการพัฒนาสถานศึกษา ย้อนหลัง 2 ปี ติดต่อกัน” ว่าสามารถนำประสบการณ์การดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา มานับรวมกับประสบการณ์การดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา เพื่อให้ครบ 2 ปี เป็นคุณสมบัติเพื่อขอเลื่อนเป็นวิทยฐานะผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ ได้หรือไม่

โดยมีการพูดคุย แสดงความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย บ้างก็ว่าไม่สามารถนำมานับรวมกันได้ เพราะมันคนละตำแหน่งกัน บ้างก็ว่าสามารถนำมานับรวมกันได้ เพราะเป็นตำแหน่งเดียวกันตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูฯ พ.ศ. 2547 คือ ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา ทำหน้าที่บริหารสถานศึกษาเหมือนกัน ทั้ง ผอ.โรงเรียน และ รอง ผอ.โรงเรียน

จากประเด็นความไม่ชัดเจนดังกล่าว จึงเป็นเหตุให้ตนได้ทำหนังสือหารือในครั้งนี้ เพื่อที่จะได้เกิดความชัดเจน เข้าใจตรงกัน และจะได้ใช้หนังสือราชการที่ได้รับจากการตอบข้อหารือครั้งนี้ เป็นข้อมูลอ้างอิงสำหรับผู้ที่จะขอเลื่อนเป็นวิทยฐานะผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษต่อไป

เมื่อได้รับการตอบข้อหารือแล้ว ตนจะได้นำมาเสนอผ่านทางเว็บไซต์ครูไทยแจ้งให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาทราบต่อไป โดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสกลนคร เขต 3 ได้ลงรับหนังสือหารือดังกล่าว เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2554 เลขรับที่ 21501

สำหรับหนังสือหารือนั้น มีรายละเอียดดังนี้


ความคืบหน้าการตอบหนังสือหารือ

นายอุเทน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2554 ตนได้ไปสอบถามความคืบหน้าของการตอบข้อหารือ จากเจ้าหน้าที่กลุ่มบริหารงานบุคคล สพป.สกลนคร เขต 3 ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ให้คำตอบว่า “กำลังจะไปสอบถามจาก สพป.สกลนคร เขต 1 และ เขต 2 ว่ามีการตอบข้อหารือในประเด็นเดียวกันนี้หรือไม่ เพื่อที่ สพป.สกลนคร เขต 3 จะได้ไม่ต้องทำหนังสือหารือไปยัง สำนักงาน ก.ค.ศ. เพราะที่ผ่านมาการทำหนังสือหารือไปยัง สำนักงาน ก.ค.ศ.แต่ละเรื่องนั้น ต้องใช้เวลานาน สำนักงาน ก.ค.ศ.จึงจะตอบข้อหารือกลับมา”

นายอุเทน กล่าวต่อว่า ตนจะติดตามการตอบข้อหารือในเรื่องนี้ต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้คำตอบที่ชัดเจน และหวังว่า ทาง สพป.สกลนคร เขต 3 จะได้เร่งตอบข้อหารือ เพื่อให้เกิดความชัดเจนโดยเร็ว

ที่มา
http://webboard.kruthai.info/index.php/topic,688.0.html

จี้ ศธ.โละประเมินวิทยฐานะแบบเก่า

ตามที่ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุลรมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) มีนโยบายให้การประเมินวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องดู จากผลลัพธ์หรือผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนเป็นสำคัญนั้น รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตนเห็นด้วย เพราะจะทำให้การศึกษาลงสู่ห้องเรียน และส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพของเด็กให้ดีขึ้นอย่างแท้จริง ใน ขณะที่ผ่านมาการขอเลื่อนวิทยฐานะจะเน้นการทำผลงานวิจัย เป็นเอกสาร ตำรา คล้ายกับการขอตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์มหาวิทยาลัย จนเกิดปัญหาการจ้างทำผลงาน หรือคัดลอกผลงานผู้อื่น รวมถึงปัญหาการทิ้งชั้นเรียน การมุ่งเป็นนักล่ารางวัล เพื่อมุ่งขอเลื่อนวิทยฐานะจนเกิดผลกระทบกับเด็กและที่ผ่านมานักวิชาการ นักการศึกษา ต่างก็ออกมายอมรับแล้วว่าการเลื่อนวิทยฐานะโดยวิธีดังกล่าวเป็นเรื่องที่ผิด มหันต์ เกิดผลเสีย และที่ร้ายที่สุดเป็นการทำลายระบบการศึกษาของประเทศ ในขณะที่ผู้ปกครองก็ออกมาย้ำว่าเป็นเรื่องจริงที่การเรียนของลูกหลานไม่มี คุณภาพ

รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา รมว.ศธ.ได้ลงนามในประกาศคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เรื่องตั้งอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) วิสามัญเฉพาะกิจจัดทำร่างหลักเกณฑ์วิธีการประเมินวิทยฐานะของข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา เพื่อศึกษาวิเคราะห์เรื่องนี้อีกครั้ง แต่ตนไม่เห็นด้วยอย่างมาก เพราะในเมื่อก็รู้อยู่แล้วว่าการเลื่อนวิทยฐานะดังกล่าวมีแต่ปัญหาจึงไม่จำ เป็นจะต้องไปศึกษาอะไรกันอีกแล้ว เพราะเราเสียเวลาไปมากกับเรื่องดังกล่าว ดังนั้นตนเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ รมว.ศธ.จะต้องใช้ความกล้าทางการเมืองในการประกาศยกเลิกการเลื่อนวิทยฐานะของ ครูและบุคลาการทางการศึกษาแบบเดิม ๆ ได้แล้ว และทบทวนสิ่งที่ทำไปทั้งหมด พร้อมทั้งเร่งการประเมินผลการเลื่อนวิทยฐานะด้วยการพิจารณาจากผลงานเชิง ประจักษ์ตามที่ประกาศไว้.



ที่มา:
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

สมศ.ปรับวิธีประเมินภายนอกเดินหน้าพร้อมกันยกจังหวัดเชื่อมองเห็นปัญหาทั้งระบบ

สมศ.ปรับวิธีประเมินภายนอกเดินหน้าพร้อมกันยกจังหวัดเชื่อมองเห็นปัญหาทั้งระบบ

ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผอ. สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เปิดเผยว่า ในการประเมินภายนอกสถานศึกษารอบสาม (พ.ศ. 2554-2558)ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555 เป็นต้นไป สมศ.จะใช้รูปแบบใหม่ในการออกประเมิน โดยการกำหนดพื้นที่ประเมินเป็นรายจังหวัด หรือ แอเรียเบส (Area Based) จากเดิมที่จะประเมินสถานศึกษาตามรายชื่อที่ถูกกำหนดไว้แล้วว่า สถานศึกษาแต่ละแห่งจะเข้ารับการประเมิน 1 ครั้งในรอบ 5 ปี เปลี่ยนเป็นการเข้าประเมินสถานศึกษาทุกแห่งเป็นรายจังหวัด ทั้งนี้เป็นอำนาจของ สมศ.ในฐานะหน่วยงานผู้ประเมินที่สามารถกำหนดรูปแบบวิธีประเมิน รวมถึงสถานศึกษาที่จะเข้ารับการประเมินในแต่ละปี ซึ่งในปีงบประมาณ 2555 จะเริ่มประเมินสถานศึกษาทุกระดับใน 12 จังหวัด ประกอบด้วย ชัยนาท สมุทรสงคราม สิงห์บุรี ตราด อำนาจเจริญ ชุมพร พังงา ภูเก็ต แพร่ เพชรบุรี ระยอง และกำแพงเพชร สำหรับสถานศึกษาแห่งใดที่ประสบอุทกภัยหรือมีเหตุผลจำเป็นที่ยังไม่พร้อมรับการประเมินสามารถแจ้งต่อ สมศ.ได้ซึ่งจะพิจารณาให้เป็นรายกรณี “การประเมินแบบใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งก็เพื่อทำให้ทุกหน่วยงานภายในจังหวัด ได้เห็นปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นและสามารถเชื่อมโยงปัญหาและหาแนวทางแก้ไขได้อย่างเป็นระบบ เช่น เรื่องการผลิตบัณฑิตให้สอดคล้องกับตลาดแรงงานในพื้นที่ เป็นต้น ทั้งนี้ในวันที่ 15 พ.ย.นี้ สมศ.ได้เชิญหน่วยงานต้นสังกัดสถานศึกษาทั้งระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน การอาชีวศึกษา และอุดมศึกษา ตลอดจนผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา และผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 12 จังหวัด เข้าชี้แจงวัตถุประสงค์การดำเนินงานและทำความเข้าใจร่วมกัน ก่อนเริ่มมีการออกประเมินแบบแอเรียเบส ในเดือนมกราคม 2555” ผอ.สมศ. กล่าว

ศ.ดร.ชาญณรงค์ กล่าวต่อว่า และเนื่อง จากคณะกรรมการบริหาร สมศ.ได้มีมติให้สรุปผลการประเมินภายนอกรอบสามให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย. 58 ส่งผลให้สถานศึกษาที่เข้ารับการประเมินในปี 2558 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของการประเมินจะไม่มีเวลาสำหรับการขอประเมินซ้ำ ดังนั้นการออกประเมินในปีงบประมาณ 2555 สมศ.จึงเปิดโควตาให้แก่สถานศึกษา 500 แห่ง เพื่อขอรับการประเมินก่อนกำหนดได้.


ที่มา
เดลินิวส์ วันอังคาร ที่ 01 พฤศจิกายน 2554

ไขข้อข้องใจ ทำไม? สพฐ.ไม่จ่ายเงินวิทยฐานะ

ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก ผอ.สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ. ได้กล่าวไว้ในจดหมายเปิดผนึก ฉบับที่ 11/2554 ว่า

ขณะนี้หลายเขตพื้นที่คงเบิกเงินวิทยฐานะและค่าตอบแทนรายเดือนให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีคำสั่ง ตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2552 - 30 กันยายน 2553 ตามหนังสือของ สพร.ที่ ศธ 04009/ว 4771 ลว 12 ตุลาคม 2554 เรียบร้อยไปแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 34,886 คน งบประมาณ 9,675 ล้าน แปลกใจกับหลายเขตที่บอกว่ายังไม่เห็นรู้เรื่องเลย หลายคนบอกว่าไม่เชื่อว่าจะเป็นเรื่องจริง เป็น เรื่องสร้างกระแสของ สพฐ. บางคนหนักถึงขนาดว่าเป็นการเคาะกะลาให้หมาดีใจ อยู่ๆก็เอาตัวเองไปเปรียบกับหมา ทั้งๆที่เรื่องนี้เป็นเรื่องของคน หมาไม่เกี่ยว ผมก็ไม่รู้จะตอบว่าอย่างไร ก็เลยแนะนำให้ไปถามคนที่เขากดเงินได้แล้วก็แล้วกันว่าจริงหรือหลอก

สำหรับผู้ที่ได้รับคำสั่ง ตุลาคม 2553 – ปัจจุบัน ขณะนี้ผมได้ข้อมูลจาก สพร.มาถึงกรกฎาคม 2554 รวม 39,405 คน งบประมาณ 8,349 ล้านบาท หลายท่านถามว่าทำไมผ่านแล้วจึงไม่จ่ายเลย จะได้ไม่ติดค้าง ผมก็อยากจะทำอย่างที่ท่านว่าครับ แต่ทำไม่ได้ เพราะเราไม่ได้มีงบประมาณจำนวนมากแบบจ่ายไม่อั้นในคลังของเรา เราต้องของบประมาณเป็นปีๆ ไป เราจะใช้จำนวนผู้ผ่านการประเมินของบประมาณ สำนักงบประมาณไม่ยอมให้เรานำจำนวนผู้ขอประเมินวิทยฐานะของบประมาณ เพราะไม่ทราบจำนวนที่จะผ่าน/ไม่ผ่านที่แท้จริง ด้วยเหตุนี้จึงเกิดเหตุการณ์ส่งผลงานก่อนรับเงินที่หลัง เพราะคนส่งก่อนกรรมการอ่าน/ขออนุมัติ อ.ก.ค.ศ.เขตช้ากว่าคนที่ส่งที่หลัง

ดังนั้น สนผ.ได้รับข้อมูลผู้ผ่านการประเมินจาก สพร.มาเท่าใด ก็ของบประมาณให้เท่านั้นครับ เช่น ปีนี้ เราตั้งงบประมาณ ปี 2555 เมื่อตอนปลายปี 2553 สนผ.ได้ข้อมูลว่ามีผู้ผ่านวิทยฐานะถึง กรกฎาคม 2553 บังเอิญปีนี้งบประมาณล่าช้า จึงขอต่อรองเพิ่มได้อีก 2 เดือน ถึง 30 กันยายน 2553

แผนที่คิดไว้ก็คือ จะทำเรื่องขออนุมัติคณะรัฐมนตรีขอส่วนที่เหลือทั้งหมด ถ้าได้ก็คงเป็นต้นๆ ปี 2555

แผนสองเป็นแผนปกติ นั่นคือ สพฐ.กำลังตั้งงบประมาณ ปี 2556 ก็จะตั้งให้ทั้งหมด รับตกเบิกเดือนตุลาคม 2555 ครับ


ที่มา -http://210.246.188.61/ewtadmin/ewt/demo_0850/ewt_news.php?nid=700&filename=index_plan

โรงเรียนขนาดเล็ก "ยุบ" หรือ "ไม่ยุบ" คำตอบอยู่ที่ "ชุมชน" จริงหรือ?

โรงเรียนขนาดเล็ก "ยุบ" หรือ "ไม่ยุบ" คำตอบอยู่ที่ "ชุมชน" จริงหรือ?

จากกระแสการยุบโรงเรียนขนาดเล็กคงสะท้อนปัญหาการศึกษาไทยได้ไม่น้อย ยิ่งนโยบายของเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ให้มีการยุบโรงเรียนขนาดเล็กในสังกัด ทั้งหมด14,397 โรง ทั่วประเทศ

แน่นอนว่าครู ผู้ปกครอง ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แม้กระทั่งนักเรียนเอง ต่างก็ได้รับผลกระทบแน่นอน และเกิดการวิตกกังวลไปตาม ๆ กัน

ผลจากการยุบโรงเรียนก็คือ นักเรียนต้องเดินทางไปเรียนอีกโรงเรียนหนึ่ง ซึ่งไม่คุ้นชิน และอยู่ไกลจากเดิม ประการต่อมาคือ ครูมีความกังวลว่าจะถูกโยกย้ายตำแหน่งหรือถูกลดบทบาทลง การจัดสรรงบประมาณ การจัดการของท้องถิ่นทำได้ยาก มากกว่านั้นก็คือผู้ปกครองไม่ยอมรับ

แล้วถามว่า ปัญหานี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ใครเป็นคนรับผิดชอบ และใครที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุด?

สาเหตุหนึ่งของการที่ไม่มีนักเรียนมาเรียนในโรงเรียน อาจเป็นเพราะคุณภาพการศึกษา หรือกระแสความนิยมของผู้ปครองที่ส่งบุตรหลานไปเรียนในเมือง เพราะเดี๋ยวนี้การอำนวยความสะดวกมีเยอะ อีกทั้งการศึกษากลายเป็นธุรกิจไปแล้ว

ทางออกที่เห็นว่า ค่อนข้างประสบความสำเร็จก็คือ การควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ที่มีนักเรียนน้อยไปเป็นศูนย์เรียนรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ใน ต.วังน้ำคู้ อ.เมือง จ.พิษณุโลก ซึ่งรวมโรงเรียน จำนวน 4 โรง ได้แก่ รร.วัดปากพิงตะวันออก รร.บ้านวังยาง รร.บ้านหนองหญ้า และ รร.วัดไผ่หลงราษฎร์เจริญ เข้าด้วยกัน

การจัดการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็กในเขต ต.วังน้ำคู้ ถือว่าเป็นแห่งแรกของประเทศไทย หลังพบปัญหาและอุปสรรคในการพัมนาคุณภาพการศึกษา คือ นักเรียนมีจำนวนน้อยลงทุกปี คุณภาพการจัดการศึกษาค่อนข้างต่ำ ทำให้ผลสัมฤทธิ์ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ การขาดแคลนบุคลากร เช่น ครูสอนไม่ครบชั้น ได้รับงบประมาณน้อย ส่งผลให้ไม่เพียงพอต่อการจัดหาสื่อการสอน


นายวิเศษ ยาคล้าย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลวังน้ำคู้ กล่าวว่า ศูนย์การเรียนรวมเริ่มเมื่อปีพ.ศ.2548 ซึ่งตนได้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันในด้านการศึกษา จึงเอาวิกฤตตรงนี้มาสร้างเป็นโอกาส โดยเริ่มจากการประสานงานกับอาจารย์ใหญ่ของแต่ละโรงเรียน ในการขยายแนวคิดเพื่อนำนักเรียนทุกโรงเรียนที่มีนักเรียนและครูจำนวนน้อยมารวมกัน ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เนื่องจากครูได้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้น

การจัดการร่วมกันระหว่างครูกับท้องถิ่นก็คือ การนำนักเรียนแต่ละชั้นปีมาเรียนรวมกัน ทำให้แต่ละชั้นเรียนมีมากขึ้น ครูมีการจัดตารางเรียน มีการแบ่งหน้าที่กันสอนในแต่ละวิชาตามความถนัด นอกจากนี้จะต้องทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง เนื่องจากผู้ปกครองส่วนใหญ่คิดว่า การยุบโรงเรียนในหมู่บ้านของตนเองจะทำให้บุตรหลานต้องเดินทางไกล เกิดผลกระทบทางด้านจิตใจ ท้ายที่สุดนำไปสู่การต่อต้านครูและผู้นำท้องถิ่น

การทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง จึงเป็นเรื่องยาก เพราะต้องอธิบายเหตุผล ความไว้วางใจต่างๆ ผลสรุปก็คือว่า ทุกวันศุกร์นักเรียนจะกลับมาที่โรงเรียนเดิมของตนเอง โดยที่ไม่ทำให้เกิดความรู้สึกว่าโรงเรียนตนเองถูกยุบ และไม่ให้กลายเป็นโรงเรียนร้าง จนถึงปัจจุบัน ต.วังน้ำคู้สามารถจัดการตรงนี้ได้และมองเห็นถึงความสำเร็จ ซึ่งอบต.ได้สนับสนุนงบประมาณ ไม่ว่าจะเป็นอาหารกลางวัน นม รถไป-กลับในส่วนของนักเรียนที่เดินทางไกล

นางชฎารัตน์ โมสกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองหญ้า ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงเรียนที่ถูกรวมอยู่กับศูนย์การเรียนรวม ต.วังน้ำคู้ กล่าวว่า จากการจัดทำศูนย์การเรียนรวม ทำให้นักเรียนมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น การเรียนอยู่ในเกณฑ์ดี สามารถสอบเข้าศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาในโรงเรียนต่างๆ ได้จำนวนมาก อีกทั้งมุมมองของเด็กที่มีต่อสังคมและสิ่งต่างๆ รอบตัวก็ดีขึ้นเช่นกัน มีความสามารถที่จะเข้าร่วมกิจกรรมกับสังคมได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ การรวมศูนย์การเรียนยังมีปัญหาอยู่บ้าง เนื่องจากการบริหารงบประมาณยังไม่ลงตัว อีกทั้งการจัดการด้านการบริหารยังติดขัดอยู่บ้าง เช่น ครูเกษียณก่อนกำหนดบ้าง ทั้งนี้ยอมรับว่าจากเดิมไม่ได้รับการยอมรับจากผู้ปกครองเท่าที่ควร เกิดความลำบากใจ ครูบางคนก็กังวลว่าจะได้ย้ายตำแหน่ง ถึงอย่างไรก็ตาม แม้จะมีการรวมศูนย์การเรียนแล้ว ก็ยังขาดแคลนบุคลากรอยู่ดี รวมถึงการขาดอุปกรณ์การเรียนการสอน โดยเฉพาะอุปกรณ์ทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ และตอนนี้ก็คงต้องดำเนินโครงการนี้ต่อไปเรื่อยๆ จะกลับไปเป็นแยกโรงเรียนให้เหมือนเดิมก็คงยาก เพราะอย่างน้อยการรวมโรงเรียนขนาดเล็กก็ยังดีกว่าถูกยุบไปเลย

ขณะที่ผู้ปกครองและนักเรียน ต่างก็สะท้อนเป็นเสียงเดียวกันว่า รู้สึกกังวลที่จะต้องเดินทางไกล มากกว่านั้นคือความรู้สึกว่าโรงเรียนตนเองต้องถูกยุบ และมองไม่เห็นถึงผลที่จะได้รับหลังจากการยุบโรงเรียนรวมกัน เมื่อผลที่ได้รับก็ทำให้รู้สึกพอใจ อบต.ให้การสนับสนุนเต็มที่ นักเรียนจากเดิมที่มีชั้นละ 3-4 คน ได้เรียนบ้างไม่ได้เรียนบ้าง ก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นและได้เรียนอย่างเต็มที่

นี่จึงเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่สามารถให้คำตอบได้ว่า โรงเรียนขนาดเล็กควรถูกยุบหรือไม่ และจะหาทางออกอย่างไรดี เพราะบางที่ผู้ปกครองถึงขั้นเก็บเงินเพื่อจ้างครูสอนด้วยซ้ำไป

ท้ายที่สุดแล้ว หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ปกครอง ครู และชุมชน ตระหนักถึงปัญหาร่วมกัน และช่วยกันฝ่าวิกฤตตรงนี้ไปได้ ก็เชื่อว่าอนาคตการศึกษาของเด็กไทย โดยเฉพาะท้องถิ่นยังไปได้อีกไกล

ฉะนั้นการรวมศูนย์การเรียนของ ต.วังน้ำคู้ น่าจะเป็นตัวอย่าง ที่สอดรับกับการพัฒนาระบบการศึกษา มากกว่านั้นคือ ความรู้สึกว่าโรงเรียนถูกยุบ ก็จะหมดไป


ที่มา : http://www.matichon.co.th