วันอังคารที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2553

การจัดการเรียนการสอนแบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง

การจัดการเรียนการสอนแบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
โดยผศ.ดร.ชนาธิป พรกุล คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นับตั้งแต่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ เมื่อเดือนสิงหาคม 2542 เป็นต้นมา ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวในการปฏิรูปการศึกษา เพราะเป็นสภาพบังคับของกฎหมายที่ผู้บริหารสถานศึกษาต้องเร่งพัฒนาคุณภาพของตน ให้เป็นผู้นำในการดำเนินการปฏิรูปการเรียนรู้ของครู ส่วนครูต้องมีความสามารถในการจัดการเรียนการสอนตามแนวทางที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้สามารถคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ความรู้ได้มีความคิดสร้างสรรค์ มีทักษะการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันจึงเกิดคำถามขึ้นว่ากระบวนการจัดการเรียนการสอนแบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลางคืออะไร มีหลักการอย่างไร จะปฏิบัติอย่างไร ครูและผู้เรียนมีบทบาทอย่างไร รู้ได้อย่างไรว่าที่ทำอยู่ถูกหรือไม่ และวิธีประเมินผลแบบเดิมจะยังคงใช้ได้อยูห่ รือไม่ คำถามเหล่านี้ล้วนแต่ชวนให้ครูแสวงหาคำตอบ เพื่อให้ได้
แนวทางที่ชัดเจน สำหรับนำมาจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ความหมายของการจัดการเรียนการสอนแบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง หมายถึง ผู้เรียนเป็นคนสำคัญที่สุด ในการจัดการเรียนการสอนแบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง คือ การให้ผู้เรียนมีบทบาทในการเรียนรู้ โดยการให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้มากที่สุด
กิจกรรมการเรียนรู้ คือ งานที่ผู้เรียนทำแล้วเกิดการเรียนรู้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยแสดงเป็นพฤติกรรมที่ครูกำหนดไว้ในจุดประสงค์การเรียนรู้ กิจกรรมการเรียนรู้ที่ดีควรมีความหลากหลาย เปิดโอกาสให้ผู้เรียนเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้ได้ทุกด้าน

ผู้เรียนสามารถมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้ได้ 4 ด้าน ดังนี้
1. ด้านร่างกาย คือ การที่ผู้เรียนใช้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายทำกิจกรรม ผู้เรียนได้เคลื่อนไหวร่างกาย ประสาทการรับรู้ตื่นตัว ทำให้รับข้อมูลได้ดี
2. ด้านสติปัญญา คือ การที่ผู้เรียนใช้สมอง หรือกระบวนการคิดในการทำกิจกรรม
3. ด้านสังคม คือ การที่ผู้เรียนได้ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นขณะทำกิจกรรม ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ทักษะทางสังคม
4. ด้านอารมณ์ คือ การที่ผู้เรียนรู้สึกต้องการ และยินดีทำกิจกรรมเพื่อแสวงหาความรู้ที่มีความหมายต่อตนเอง การมีส่วนร่วมด้านอารมณ์มักจะดำเนินควบคู่ไปกับกิจกรรมการเรียนรู้ด้านร่างกาย สติปัญญา และสังคม

แนวคิดของการจัดการเรียนการสอนแบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
การจัดการเรียนการสอนแบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เป็นการจัดตามแนวทฤษฎีพุทธินิยม( Cognitive theories ) ที่เชื่อว่า การเรียนรู้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายในสมอง เกิดจากกระบวนการกระทำกับข้อมูล มีการบันทึกข้อมูล และดึงข้อมูลออกมาใช้ วิธีเรียนรู้มีผลต่อการจำ การลืม และการถ่ายโอน( Transfer ) ความรู้ แรงจูงใจระหว่างการเรียนรู้มีความสำคัญต่อการชี้นำความสนใจ มีอิทธิพลต่อกระบวนการจัดข้อมูล และส่งผล โดยตรงต่อรูปแบบการเรียนรู้ของผู้เรียน

ปัจจุบันแนวคิดการสรรค์สร้างความรู้ ( Constructivism) ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายว่ามีความสอดคล้องกับการจัดการเรียนการสอนแบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง แนวคิดนี้มีความเชื่อว่าความรู้เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นด้วยตนเอง สามารถเปลี่ยนแปลงและพัฒนาให้งอกงามขึ้นได้เรื่อย ๆ โดยอาศัยการพัฒนาโครงสร้างความรู้ภายในบุคคล และการรับรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัว

โครงสร้างของความรู้มีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ประการ คือ
1. ความรู้เดิมที่ผู้เรียนมีอยู่
2. ความรู้ใหม่ ที่ผู้เรียนได้รับเป็นข้อมูล ความรู้ ความรู้สึก และประสบการณ์
3. กระบวนการทางสติปัญญา ซึ่งเป็นกระบวนการทางสมองที่ผู้เรียนใช้ทำความเข้าใจกับความรู้ใหม่ และใช้เชื่อมโยงปรับความรู้เดิมและความรู้ใหม่เข้าด้วยกัน

ดังนั้นครูที่จัดการเรียนการสอนแบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลางจึงมีความเชื่อว่า ผู้เรียนทุกคนมีความสามารถในการเรียนรู้ และพัฒนาตนเองได้ ผู้สอนไม่จำเป็นต้องบอกความรู้เนื้อหาสาระอีกต่อไป

บทบาทของครูและผู้เรียน
เมื่อการจัดการเรียนการสอนให้ความสำคัญกับผู้เรียน บทบาทหน้าที่ของครูและผู้เรียนจึงเปลี่ยนไป ดังนี้
• ครูมีหน้าที่รับผิดชอบการเรียนรู้ของผู้เรียนโดย
ก่อนสอน ทำการวางแผน เตรียมการ เลือกกิจกรรมการเรียนรู้
ขณะสอน ทำหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวก ( Facilitator ) จัดการ แนะนำ สังเกต ช่วยเหลือ เสริมแรง และให้ข้อมูลย้อนกลับ
หลังสอน ทำหน้าที่ประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน เพื่อใช้ในการวางแผนการสอนต่อไป หรือตัดสินคุณภาพของผู้เรียน
• ผู้เรียนมีหน้าที่รับผิดชอบการเรียนรู้ของตนเอง โดยเลือกสิ่งที่ต้องการเรียนวางแผนการเรียน เข้าไปมีส่วนร่วมในการเรียน ศึกษาค้นคว้าเรียนรู้ด้วยตนเอง และประเมินผลการเรียนรู้ของตน


ที่มา
http://www.arts.ac.th

ไม่มีความคิดเห็น: