วันอังคารที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2553

ก.พ.ปรับประเมินเงินเดือนใหม่ ยึดจ่ายตามผลงาน ลดภาวะเช้าชามเย็นชาม

ก.พ.ปรับระบบขึ้นเงินเดือนเป็น “ช่วง” จ่ายตามผลงานจริง ก.พ.ปรับระบบการประเมินผลงานเลื่อนเงินเดือนข้าราชการรูปแบบใหม่ จาก “ขั้น” เป็น “ช่วง” ชี้ ยึดหลักจ่ายค่าตอบแทนตามผลงาน อุดรั่วปัญหาภาวะการทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม เริ่มใช้ 1 เม.ย.53 นี้ เลขา ก.พ.ระบุ ใครมีผลงานดี ต้องได้รับค่าตอบแทนดีเช่นกัน เชื่อจะทำให้ ขรก.มองภาพชัดขึ้นว่าผลงานตนเองพัฒนาองค์กรอย่างไร

นางเบญวรรณ สร่างนิทร เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) กล่าวว่า ก.พ.ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฎิบัติราชการของข้าราชการ พลเรือนสามัญแบบใหม่เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการเลื่อนเงินเดือนข้าราชการ โดยปรับเปลี่ยนจากบัญชีอัตราเงินเดือนแบบ “ขั้น” ไปเป็นบัญชีอัตราเงินเดือนแบบ “ช่วง” ซึ่งเป็นการขึ้นเงินเดือนโดยอาศัยหลัก “ร้อยละ” เป็นหลักยึดในการจ่ายค่าตอบแทนข้าราชการแบบใหม่

เลขาฯ ก.พ.อธิบายหลักเกณฑ์การขึ้นเงินเดือนข้าราชการแบบ “ช่วง” ว่า เป็นการกำหนดองค์ประกอบการประเมินผลการปฏิบัติงานอย่างน้อย 2 องค์ประกอบ คือ ผลสัมฤทธิ์ของงานและพฤติกรรมการปฏิบัติราชการ และองค์ประกอบอื่นๆ ส่วนราชการนั้นๆ สามารถตกลงกันเองเพื่อกำหนดเป็นองค์ประกอบเพิ่มเติมได้ แต่ทั้งนี้ ต้องมีสัดส่วนของผลสัมฤทธิ์ของงานไม่น้อยกว่า 70% จาก 100 และมีการกำหนดระดับผลการประเมินอย่างน้อย 5 ระดับ แต่หากส่วนราชการใดๆ เห็นสมควรว่าจะมีเพิ่มมากกว่า 5 ระดับก็สามารถทำได้ ซึ่งจุดนี้จะเป็นการเพิ่มแนวทางการยืดหยุ่นของกรอบมาตรฐานให้มีมากกว่าเดิม


ส่วนเกณฑ์การประเมินจากพฤติกรรมการทำงาน นางเบญจวรรณ ระบุว่า จะประเมินจากสมรรถนะ เช่น มีความตั้งใจและพยายามทำงานให้ดีตามที่ได้รับมอบหมายหรือไม่ บริการประชาชนด้วยไมตรีจิตหรือไม่ หรือทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตหรือไม่ ในขณะที่ในเกณฑ์ในเชิงปริมาณจะดูว่าทำได้มากน้อยเพียงใด คุณภาพของงานเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ ตลอดจนเรื่องของความฉับไวในการทำงาน การลดขั้นตอนการทำงาน รวมถึงความคุ้มค่าของการใช้ทรัพยากรขององค์กรด้วย


สำหรับกระบวนการดังกล่าวจะเริ่มต้นตั้งแต่ต้นรอบการประเมินที่กำหนด ให้มีการประเมินปีละ 2 รอบ คือ รอบแรก 1 ต.ค.-31 มี.ค.และรอบสอง 1 เม.ย.-30 ก.ย.โดยมีผู้บังคับบัญชาและข้าราชการเริ่มต้นด้วยกัน ตั้งแต่การมอบหมายงาน ตกลงทำงานร่วมกันโดยมีตัวชี้วัดและเป้าหมายงาน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและสร้างผลสัมฤทธิ์ และเมื่อถึงปลายรอบ การประเมินก็จะประเมินผลงานจริงเทียบกับข้อตกลงที่ได้ตกลงกันตอนต้นรอบการ ประเมิน โดยจะเริ่มใช้ในเดือนเมษายน 53 ที่จะถึงนี้เลย


“การเปลี่ยนระบบเลื่อนเงินเดือนครั้งนี้ จะเป็นการเปลี่ยนการบริหารการจัดการในเรื่องของการประเมินและเป็นการกำหนด องค์ประกอบการประเมินผลงานให้มีความยืดหยุ่นต่อการนำไปปรับใช้ ซึ่งการกำหนดกรอบมาตรฐานที่เปิดแนวทางให้มีความยืดหยุ่น และให้อำนาจส่วนราชการสามารถกำหนดวิธีการประเมินได้จะเป็นการขยายแนวทาง และเชื่อว่า จะสามารถยกบทบาทผู้บังคับบัญชาการในการเลื่อนเงินเดือนข้าราชการระบบใหม่ให้ มีมากขึ้นกว่าเดิม ในฐานะผู้รับผิดชอบงาน และขับเคลื่อนการทำงานของส่วนราชการ ซึ่งผลการเลื่อนเงินเดือนนั้นจะขึ้นอยู่กับต้นทาง คือ ระบบการประเมินผลการปฏิบัติราชการ ซึ่งต้องสามารถวัดผลการปฏิบัติงานได้จริงและเป็นรูปธรรมมากขึ้น เพื่อให้เปอร์เซ็นต์เลื่อนเงินเดือนตรงกับการทำงาน การประเมินรูปแบบนี้ ตัวค่าตอบแทนแม้จะไม่ต่างจากเดิมมากเท่าไร แต่ข้าราชการและหน่วยงาน แต่ละคนจะเห็นภาพชัดเจนว่าการทำงานของตนส่งผลต่อความสำเร็จของส่วนราชการ อย่างไร ผลงานของตนมีผลกระทบต่อเป้าหมายและองค์กรอย่างไร รวมทั้งค่าตอบแทนสมน้ำสมเนื้อกับความทุ่มเทในงานหรือไม่ ทั้งการประเมินยังสามารถลดวิจารณญาณส่วนตัวของผู้ประเมิน หรือลดความเอนเอียงในการประเมินเพราะข้อตกลงเบื้องต้นร่วมกันระหว่างผู้ถูก ประเมิน ซึ่งคาดว่า น่าจะทำให้ข้าราชการที่จ่อจะได้สองขั้นมีขวัญและกำลังใจกับระบบการเลื่อน เงินเดือนใหม่”


ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จำนวนงบประมาณของการเลื่อนเงินครั้งนี้มีงบประมาณ 5,000 ล้านบาทต่อปี และได้รับการจัดสรรบริหารจัดการงบประมาณ คือ ร้อยละ 3 ของเงินเดือนราชการในแต่ละส่วนราชการ โดยเลขาธิการ ก.พ.กล่าวชี้แจงเพิ่มเติมว่า ผู้บังคับบัญชาสามารถบริหารจัดการงบประมาณเพื่อเลื่อนเงินเดือนตามผลงานของ ข้าราชการได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องคำนึงถึงโควตา จำนวนคน “ดีเด่น” ที่จากเดิมมีอยู่ร้อยละ 15 แต่ผู้มีผลงานดีเด่น จะมีโอกาสได้เลื่อนเงินเดือนเป็นร้อยละที่มากกว่าระบบเดิม โดยเลื่อนได้สูงสุดได้ถึงร้อยละ 6 ต่อรอบการประเมินระบบเดิมเลื่อนได้สูงสุด 1 ขั้น ประมาณร้อยละ 4 ต่อรอบการประเมิน ส่วนผู้ที่มีผลการปฏิบัติงานอยู่ในเกณฑ์ลดหลั่นกันลงมา ก็จะได้เลื่อนเงินเดือนเป็นอัตราร้อยละที่ถัดลงมาเช่นกัน และหากผู้มีผลงานดีเด่นได้เลื่อนเงินเดือนในอัตราที่น้อยลง ซึ่งจะมากน้อยเท่าใด ก็เป็นสิ่งที่ผู้บังคับบัญชาจะต้องบริหารจัดการให้เหมาะสม กับวงเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรร

“ผลที่จะเกิดอนาคต การทำงานของข้าราชการ จะพัฒนาในแนวทางที่ดีมากขึ้นเพราะมุ่งเน้น ที่ผลสำเร็จของการปฏิบัติงาน และขจัดคำที่ว่าราชการทำงานเช้าชามเย็นชามด้วยการเสริมแรงกระตุ้น และคาดหวังว่า ส่วนราชการน่าจะมีความแข็งแรงเคียงบ่าเคียงไหล่ไปกับภาคเอกชนอันจะนำมาซึ่ง การพัฒนาภาพรวมประเทศ” นางเบญจวรรณ สรุป



ที่มา - ผู้จัดการออนไลน์
http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9530000041976

ไม่มีความคิดเห็น: