วันอังคารที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2553

ว่าด้วยเรื่อง...เงินเดือนครู

มีคำกล่าวว่า “ครูเปรียบเสมือนเรือจ้าง” ทำงานหนัก เพื่อส่งลูกศิษย์ไปถึงฝั่งฝันที่งดงาม แต่ตนเองกลับได้สิ่งตอบแทนเพียงค่าแรงน้อยนิด

ปัญหาค่าตอบแทนสำหรับพ่อ พิมพ์-แม่พิมพ์ของชาติ ยังคงเป็นประเด็นอ่อนไหวไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัย และไม่เพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ประเทศมหาอำนาจอย่าง “สหรัฐอเมริกา” เอง ก็ยังหาทางลงกับเรื่องนี้ไม่ได้เช่นกัน

ล่าสุด สภานิติบัญญัติประจำ รัฐฟลอริดา กำลังผลักดันร่างรัฐบัญญัติสำคัญเกี่ยวกับการศึกษา ที่อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ โดยร่างรัฐบัญญัติที่ว่านี้ มีสาระสำคัญกล่าวถึง เงินค่าตอบแทนครู ขนาดชั้นเรียน หลักประกัน และความต้องการในการสำเร็จการศึกษา

แต่ประเด็นที่ทำให้เส้น ทางการผลักดันร่างรัฐบัญญัติฉบับนี้ ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบก็หนีไม่พ้น เรื่องค่าตอบแทนครู ซึ่งในกฎหมายระบุว่า ร้อยละ 50 ของเงินที่จะจ่ายให้กับครูตามโรงเรียนต่างๆ ในรัฐ ฟลอริดานั้น จะพิจารณาจาก ผลสัมฤทธิ์ทางการสอน ซึ่งมีผลสอบ เอฟแคต ของเด็กนักเรียนเป็นตัวชี้วัด ส่วนที่เหลือก็จะประเมินตาม มาตรฐานที่ตั้งไว้

สำหรับการสอบ “เอฟแคต” (FCAT : The Florida Comprehensive Assessment Test) คือการทดสอบมาตรฐานความรู้ทั่วไป ที่กำหนดให้นักเรียนชั้นประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ตั้งแต่เกรด 3-11 ที่ศึกษาในโรงเรียนของรัฐต้องเข้าทดสอบ โดยกำหนดการสอบกันในช่วงปลายเดือน ก.พ.หรือต้นเดือน มี.ค.ของทุกปี ซึ่งการสอบวัดระดับเอฟแคตนี้ เพิ่งจะมีการนำมาใช้กันครั้งแรกในปี 2541

แทนที่การสอบ “เอสแซต” (SSAT: State Student Assessment Test ) และ “เอชเอสซีที” (High School Competency Test) โดยการผลการสอบเอฟแคต ของนักเรียนจะถูกนำมาเป็นข้อมูล ในการจัดอันดับโรงเรียนตั้งแต่ระดับ A ถึง F ตาม “แผนเอ พลัส” (A+Plan) ของ “นายเจ็บ บุช” อดีตผู้ว่าการรัฐฯ คนที่ 43

ทว่ากระแสตอบรับของการนำ ผลสอบเอฟแคต มาประเมินเงินเดือนครูดูเหมือนจะไม่เป็นที่น่าพอใจนัก โดย สหภาพครูประจำรัฐฟลอริดา ถึงกับออกมาตำหนิความคิดนี้ว่า “เป็นการทำร้ายครู” ชัดๆ

ขณะที่ “โจเอล เมลวิน” อาจารย์ ประจำวิชาประวัติศาสตร์สหรัฐฯ และเศรษฐศาสตร์ประจำโรงเรียนมัธยมเคลียร์วอเตอร์ ระบุว่า ความคิดดังกล่าวเป็นการก้าวที่ไกลเกินไป และเป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้

ด้าน วุฒิสมาชิกลาร์เซเนีย บัลลาร์ด จากไมอามี ผู้เคยเป็นอาจารย์มาก่อน ก็กล่าวว่า เขาคิดไม่ออกเลยจะรู้สึกอย่างไร หากต้องบอกนักเรียนของตัวเองว่า พวกเธอจะเป็นคนกำหนดเงินเดือนของครู

...กลับมาที่ครูไทย หากจะใช้คะแนนสอบอะไรสักอย่างของนักเรียนมากำหนดเงินเดือนเรือจ้างเหล่านี้ ก็เห็นทีคงจะสะกดคำว่า “ยุติธรรม”ได้ไม่เต็มปาก แต่ถึงอย่างไรก็ต้องหาวิธีสร้างสมดุลระหว่าง “จุดที่ต้องการ” กับ “จุดที่เหมาะสม” ให้ได้ ไม่เช่นนั้นแล้ววันข้างหน้าคงไม่มีใครคิดอยากจะเป็นครูอีก



ที่มา - สยามรัฐออนไลน์
http://www.siamrath.co.th/uifont/NewsDetail.aspx?cid=39&nid=59227

ไม่มีความคิดเห็น: